นักเศรษฐศาสตร์ หวั่นไทยอ่อนข้อลดภาษีนำเข้า 0% ให้สหรัฐฯ กระทบสินค้าเกษตรอาจเพิ่มกว่า 100% กระทบผู้ผลิตภายในรุนแรง

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การลดภาษีนำเข้า 0% สินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา และเปิดตลาดให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ อาจทำให้มีการลดกำแพงภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ลงมาในระดับใกล้เคียงกับประเทศอาเซียน อย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ได้ ทำให้ลดความรุนแรงของภาษีตอบโต้ทางการค้าที่ระดับ 36% ต่อภาคส่งออกไทย ผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยจะลดลงมาได้ไม่ต่ำกว่า 9-10 เท่า กลุ่มสินค้าที่พึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูงคิดเป็น 13-14% ของจีดีพีไทย

หากไทยไม่ได้ลดภาษีจากระดับ 36% จะทำให้มูลค่าส่งออกไทยสูญเสียหลายแสนล้านบาทในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การเปิดตลาดให้สหรัฐฯ ด้วยการลดภาษีนำเข้า 0% เพื่อแลกกับการลดภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจจะสร้างปัญหาอีกด้านหนึ่ง มีผลกระทบต่อภาคการผลิตภายในที่ปรับตัวไม่ได้แข่งขันไม่ได้และผลต่อตลาดแรงงานและปัญหาอาจใหญ่กว่าหากไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบให้ดี หวั่นสินค้าสหรัฐฯ ทะลักเฉพาะสินค้าเกษตรสหรัฐฯ อาจเพิ่มกว่า 100% กระทบผู้ผลิตภายในรุนแรง ภาวะดังกล่าวจะซ้ำเติมสถานการณ์ที่ผู้ผลิตภายในต้องเผชิญสินค้าทุ่มตลาดจากจีนอยู่แล้ว

ดร.อนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนผลกระทบของภาษีทรัมป์ต่อตลาดแรงงานไทยโดยภาพรวมยังไม่รุนแรง และยังคงอยู่ในขอบเขตจำกัด โอกาสเกิดวิกฤติการจ้างงานเกิดขึ้นในเพียง 4 สาขา คือ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กิจการก่อสร้างและกิจการที่พักแรม กิจการบริการอาหาร จากข้อมูลการเตือนภัยด้านแรงงาน ของ กระทรวงแรงงาน พบว่า การประมาณการโอกาสเกิดวิกฤตการจ้างงานในระยะเวลา 4 ไตรมาสข้างหน้า อยู่ที่ร้อยละ 25.51%

ขณะที่การว่างงานของผู้ที่เคยเป็นลูกจ้างเอกชนอยู่ในเหตุการณ์ปรกติร้อยละ 84.09 และมีโอกาสเกิดวิกฤติการว่างงาน ร้อยละ 5.35 ข้อมูลสถานการณ์การจ้างงานของกระทรวงแรงงานในไตรมาสแรก มีจำนวนผู้มีงานทำ 39.38 ล้านคน คิดเป็นลูกจ้างเอกชน 16.08 ล้านคน อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.9% มีจำนวนผู้ว่างงาน 357,731 คน อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวลงของภาคส่งออก ภาคการผลิต ภาคการลงทุน จะทำให้อัตราการว่างงานโดยรวมในช่วงที่เหลือของปีเพิ่มขึ้น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อส่งเสริมการจ้างงานช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่ง

การเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน ดึงดูดการลงทุนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จากรายงาน OECD, ADB และ BOI รวบรวมโดยศูนย์วิจัย DEIIT ได้ชี้ถึงข้อจำกัดของระบบแรงงานไทย ดังนี้

-ทักษะไม่ตรงความต้องการตลาด โดยผู้ประกอบการกว่า 52% ระบุว่าแรงงานไทยยังขาดทักษะที่จำเป็น ทำให้ขาดทักษะดิจิทัล การคิดวิเคราะห์ และการสื่อสารเชิงวิชาชีพ

-ระบบการฝึกอบรมยังไม่ทันสมัย อัตราการฝึกอบรมผู้ใหญ่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียน มีแรงงานเพียง 10% ที่มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง (OECD, 2025) หลักสูตรไม่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve

-ขาดการรับรองทักษะในระดับสากล แรงงานมีใบรับรองมาตรฐานสากลเพียง 6% (BOI, 2024) ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าทำงานกับบริษัทต่างชาติที่ตั้งฐานในไทยได้อย่างเต็มที่

-ไม่มีระบบคาดการณ์ทักษะแรงงานล่วงหน้า ไทยยังไม่มีระบบ Skills Forecasting หรือLabor Market Intelligence ที่เข้มแข็ง (OECD, 2025) ทำให้การส่งเสริมทักษะแรงงานในเชิงรุก

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles