นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่าได้เสร็จภารกิจเดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีแล้ววันนี้ (14 มี.ค.) จะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยและมีกำหนดการหารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด (H.E. Ms. Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งจะได้หารือกับนาย Mark Ein ประธานสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) ที่ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ในการหารือกันระหว่างนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์สหรัฐฯ จะครอบคลุมประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ เช่นการชักชวนให้บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ มาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งการเปิดตลาดส่งออกสินค้าจากไทยไปยังสหรัฐฯ เพิ่มเติม รวมทั้งการขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ ช่วยผลักดันให้บริษัทที่เป็นผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น อุตสาหกรรมชิปต้นน้ำ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่จะช่วยส่งเสริมการผลิตอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยต่อเนื่องไปอีกหลายอุตสาหกรรม และจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทยในระยะยาว
วานนี้ (13 มี.ค.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับพร้อมด้วยสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (The President’s Export Council : PEC) ซึ่งเป็นผู้บริหารธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ได้รับเลือกโดยตรงจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการค้าและโอกาสทางธุรกิจกับประเทศในภูมิภาคต่างๆ ว่า เป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายได้พบหารือกัน โดยเน้นย้ำว่าไทยและสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาเป็นเวลานานกว่า 190 ปี และกระทรวงพาณิชย์ของไทยพร้อมร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน
การหารือครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้นำเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของไทยแก่สหรัฐฯ อาทิ นโยบาย Soft Power การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การสร้างดุลยภาพของผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Digital Wallet การส่งเสริม MSMEs การผลักดันการส่งออก ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่มีอยู่ของไทย รวมทั้งการมุ่งแก้ไขและปรับปรุงข้อจำกัดทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้าเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถและโอกาสทางธุรกิจของภาคเอกชน
“ไทยยังได้ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาเร่งรัดการต่ออายุการให้สิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษีจีเอสพี ที่ได้หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2563 ให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ทางสหรัฐรับปากที่จะเร่งรัดการต่อจีเอสพีให้ไทย อีกทั้งการตอบสนองต่อทุกข้อกังวลของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้สามารถปรับสถานะของไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) และจากทุกบัญชีให้ได้ต่อไป” นายภูมิธรรม กล่าวว่า