บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ ซึ่งเป็นสำนักวิจัยในเครือสำนักข่าวบลูมเบิร์ก สื่อเศรษฐกิจการเงินและการลงทุนชื่อดังระดับโลก เปิดเผยว่า ภายในปี 2026 หรือในอีก 2 ปีจากนี้ไป นิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่น มีภาระที่จะต้องไถ่ถอนหุ้นกู้คืนให้กับเจ้าหนี้จำนวนมากมายถึง 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 195,500 ล้านบาท ส่งผลเป็นภาระหนี้หุ้นกู้ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา หรือในรอบ 28 ปี สำหรับหุ้นกู้ดังกล่าวทั้งหมดที่จะต้องไถ่ถอนคืนให้กับเจ้าหนี้จะมีทั้งสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เหรียญยูโร และเยน
ขณะที่ตัวชี้วัดภาระและความสามารถในการไถ่ถอนหุ้นกู้คืนให้กับเจ้านี้ของนิสสัน มอเตอร์ พบว่า ค่าพรีเมียมในการจ่ายชดเชยความเสี่ยงการผิดนัดชะระหนี้ของนิสสัน มอเตอร์ พุ่งขึ้นสูงสุดในครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคมปี 2023 สอดรับกับ ค่าพรีเมียมของผลตอบแทนหุ้นกู้นิสสันในสกุลเงินเยน และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งสูงขึ้นมากที่สุดในปี 2024 นี้
นายเคนทาโร ฮานาดะ หัวหน้าสายงานวิจัยอันดับความน่าเชื่อถือการลงทุน หรือเครดิต บริษัทหลักทรัพย์เอสเอ็มบีซี นิกโก เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน นิสสัน มอเตอร์ อาจกลายเป็นนางฟ้าตกสวรรค์ ในเมื่อตลาดลทุนมีความวิตกเกี่ยวกับการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือการลงทุนของนิสสัน มอเตอร์ ทำให้นักลงทุนจำเป็นต้องกดดันให้จ่ายผลตอบแทนสูงมากกว่าสถานการณ์ปกติตามผลประกอบการที่ประกาศออกมา
อย่างไรก็ตาม นายชิโร นาไก ฝ่ายสื่อสารองค์กร นิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่น เปิดเผยว่าข้อมูลสิ้นสุดเมื่อ 30 กันยายนผ่านมา นิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่น มีสภาพคล่องเพียงพอ ซึ่งสะท้อนจากเงินสดที่มีในปัจจุบันถึง 1.3 ล้านล้านเยน หรือ 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 290,500 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังให้คำมั่นกับสถาบันการเงินต่างประเทศที่นิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่น ได้กู้ยืมเงินมาเพื่อใช้ดำเนินกิจการธุรกิจผลิตผลรถยนต์ และธุรกิจสินเชื่อรถยนต์
ขณะที่บริษัทจัดอันดับความเชื่อถือการลงทุนชื่อดังระดับโลกทั้ง 3 แห่ง ล้วนเปิดเผยอันดับการลงทุนของนิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่น ดังนี้ มูดี้ส์ อินเวสเมนท์ เซอร์วิส เปิดเผยว่า นิสสันมีอันดับการลงทุนที่ระดับ Baa3 ฟิทช์ เรตติ้งส์ จัดอันดับการลงทุนนิสสันอยู่ที่ระดับ BBB- ซึ่งทั้ง 2 ระดับลงทุนจากทั้ง 2 บริษัทล้วนเป็นระดับการลงทุนต่ำที่สุด ในขณะที่ เอสแอนด์พีจัดอันดับลงทุนนิสสันอยู่ที่ระดับ BB+ ซึ่งถึงแม้จะเป็นระดับเต็มเพดานสูงสุด แต่อยู่ในกลุ่มอันดับการลงทุนหุ้นกู้ขยะ หรือ Junk Bond
บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ และซีเอ็มเอ เปิดเผยต่อไปว่า การจัดอันดับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่มีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชะระหนี้ พบว่า ไม่เพียงนิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่น จะมีความเสี่ยงสูงอยู่ในอันดับที่ 4 แต่ยังเป็นเพียงบริษัทเดียวในอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นที่ถูกจัดให้มีอันดับความเสี่ยงสูงใน 10 อันดับแรกอีกด้วย สำหรับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผิดนัดชำระหนี้ ได้แก่ อันดับ 1.ราคูเทน ธุรกิจขายปลีกออนไลน์ อันดับ 2.นิปปอน เปเปอร์ ธุรกิจผลิตเยื่อกระดาษ อันดับ 3.ซอฟท์แบงก์ กรุ๊ป ธุรกิจร่วมลงทุนและโทรคมนาคม ในขณะที่อันดับ 5.ชาร์ป ธุรกิจผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 6.เรเนแซส ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปเซตสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ อันดับ 7.เอ็นนีออส ธุรกิจพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิง อันดับ 8.คาวาซากิ ไคเซน หรือเคไลน์ ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ อันดับ 9.ยามาฮ่า ธุรกิจมอเตอร์ไซด์ เครื่องกล และอันดับ 10.โซจิทส์ ธุรกิจเทรดดิ้ง
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ญี่ปุ่น รายงานว่า ราคาหุ้นของบริษัทนิสสันมอเตอร์ประเทศญี่ปุ่นปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านไป มีราคาลงมาถึงระดับต่ำสุดระหว่างวันอยู่ที่หุ้นละ 368.50 เยน หรือกว่าหุ้นละ 82.18 บาท ส่งผลมีราคาตกต่ำถึง 41.50 เยน หรือกว่า 9.25 บาทต่อหุ้น หรือร่วงมากถึง -10.1% เมื่อเทียบจากราคาก่อนหน้านี้ที่เคยอยู่ที่หุ้นละ 410 เยน หรือกว่า 91.50 บาทต่อหุ้น ราคา หุ้นของบริษัทนิสสันที่ตกต่ำอย่างรุนแรงดังกล่าวจึงทำสถิติราคาต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2020 หรือต่ำสุดในรอบ 4 ปี 1 เดือนผ่านมา
สาเหตุที่นักลงทุนแห่เทขายหุ้นนิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่น อย่างหนาตาเป็นผลมาจากการขาดความเชื่อถือในแนวโน้มของแผนการแก้ไขสถานการณ์ตลาดรถยนต์นิสสัน รวมถึงคณะกรรมการบริษัทนิสสัน มอเตอร์ประเทศญี่ปุ่น ได้แถลงการณ์ออกมาว่าเนื่องจากบริษัทนิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่น มีการปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ด้านการเงินในปีงบประมาณปัจจุบัน ส่งผลให้คณะกรรมการของบริษัทฯ มีมติยกเลิกการจ่ายเงินปันผลระหว่างการ นอกจากนี้ยังยกเลิกการคาดการณ์มุมมองเงินปันผลในช่วงสิ้นปีนี้
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2024 นิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นค่ายผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ชื่อดังระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่าเตรียมตัดลดค่าใช้จ่ายครั้งใหญ่ผ่าน 3 มาตรการสำคัญได้แก่ ดำเนินการปลดพนักงานครั้งใหญ่จำนวน 9,000 คน ปรับลดกำลังการผลิตรถยนต์ลงมากถึง 20% จากกำลังการผลิตในปัจจุบัน และขายหุ้นในสัดส่วน 10% ที่นิสสัน มอเตอร์ ถืออยู่ในค่ายรถยนต์ มิตซูบิชิ มอเตอร์ ที่ 34% คืนกลับให้ขายรถยนต์มิตซูบิชิ มอเตอร์
นอกจากนี้ฝ่ายบริหารระดับสูงของบริษัทมอเตอร์ได้ปรับลดมุมมอง รายได้จากการดำเนินงานทั้งปีงบประมาณปัจจุบันที่จะสิ้นสุดเดือนมีนาคมปี 2025 จากเดิม 500,000 ล้านเยน หรือกว่า 111,500 ล้านบาท ลงมาเหลือเพียง 150,000 ล้านเยน หรือกว่า 33,450 ล้านบาท หรือปรับลดลงมากถึง 70% จากเป้าหมายเดิม สอดรับกับการปรับลดมุมมองผลกำไรจากการดำเนินงานในช่วงระยะเวลาเดียวกันจากเดิมที่ 600,000 ล้านเยน หรือ 133,800 ล้านบาท เหลือที่ 500,000 ล้านเยน หรือ 111,500 ล้านบาท
สาเหตุจาก แบรนด์รถยนต์นิสสันต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงและเข้มข้นตลอดเวลาทั้งจากแบรนด์รถยนต์ในเอเชียโดยเฉพาะจีน เช่น บีวายดี และแบรนด์รถยนต์จากสหรัฐอเมริกา เช่น เทสลา ซึ่งการตัดสินใจตัดลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวนั้น นับเป็นความท้าทายและความพยายามครั้งล่าสุดของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO นิสสัน มอเตอร์ ชื่อว่า นายมาโกโตะ ยูชิดะ ที่ได้ประกาศไว้ว่าจะปรับปรุงความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ท่ากลางยอดขายรถยนต์ของแบรนด์นิสสันชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง