นิสสัน ญี่ปุ่น ประกาศปลดพนักงานเพิ่มขึ้นอีก 10,000 คนทั่วโลก รวมปลดกว่า 20,000 คนทั่วโลก หรือกว่า 15% มากสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ตั้งบริษัทมา

นิสสัน ญี่ปุ่น ประกาศ ปลดพนักงาน เพิ่มขึ้นอีก 10,000 คนทั่วโลก รวมปลดกว่า 20,000 คนทั่วโลก หรือกว่า 15% มากสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ตั้งบริษัทมา

นิสสัน มอเตอร์ ซึ่งเป็นค่ายผลิตรถยนต์มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ได้ทบทวนแผนการตัดลดและควบคุมค่าใช้จ่ายครั้งใหม่ โดยพบว่ายังมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องตัดลดค่าใช้จ่ายมากขึ้น และต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องประกาศปลดพนักงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 10,000 คนทั่วโลก จากที่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 เคยประกาศว่าจะปลดพนักงาน 9,000 คนทั่วโลก หรือตกงานเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมอีก 3,000 คน

ส่งผลให้จำนวนพนักงานของนิสสันที่อยู่ทั่วโลกจะต้องตกงานเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 20,000 คนหรือคิดเป็น 15% ของจำนวนพนักงานที่มีอยู่ในปัจจุบันทั่วโลก การปลดพนักงานครั้งใหญ่คิดเป็นกว่า 15% หรือกว่า 20,000 คนทั่วโลกในครั้งนี้ กลายเป็นการปลดพนักงานที่มากเป็นประวัติการณ์ของนิสสัน มอเตอร์

สำหรับการประกาศปลดพนักงานเพิ่มขึ้นอีกเป็นมากกว่า 10,000 คนในครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนถึงวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ที่นิสสัน มอเตอร์ เตรียมที่จะแถลงผลประกอบการของบริษัทสิ้นสุดปีงบประมาณ 2025 หรือเมื่อ 31 มีนาคมผ่านไป โดยมีการคาดการณ์ว่านิสสัน มอเตอร์ จะมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนสุทธิสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ถึง 750,000 ล้านเยน หรือ 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 168,300 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้เพียง 3 วัน หรือเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2025 ผ่านมา นายอีแวน เอสพิโนซา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ นิสสัน มอเตอร์ ซึ่งเป็นค่ายผลิตรถยนต์มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ได้ตัดสินใจยกเลิกแผนการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี มูลค่า 153,300 ล้านเยน หรือ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 36,300 ล้านบาทที่เมืองคิตะคิวชู ตั้งอยู่บนเกาะคิวชูซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ที่สำคัญโรงงานแห่งนี้กำหนดเป้าหมายการจ้างพนักงานไม่ต่ำกว่า 500 คนเป็นอันจะต้องพับแผนการจ้างงานไปด้วย

การตัดสินใจทบทวนด้วยการยกเลิกแผนการลงทุนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อกว่า 3 เดือนให้หลังจากที่นิสสันได้ลงนามในข้อตกลง กับฝ่ายราชการในเมืองดังกล่าว เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา การยกเลิกแผนการลงทุนดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของนิสสันที่ต้องการจะทบทวน การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับรถอีวี ท่ามกลางสภาวะตลาดรถอีวีที่ซบเซาและมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางลบมากขึ้น

ด้านยอดขายของนิสสัน ปรากฏว่าต้องเผชิญกับภาวะยอดขายรถรุ่นใหม่ที่ตกต่ำในตลาดสหรัฐอเมริกาและจีน การตัดสินใจในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงนิสสันมีความจำเป็น ในการตัดลดการลงทุนเพื่อการเติบโต เพื่อเป้าหมายในการรักษาให้ธุรกิจมีความมั่นคงในอนาคต

โรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าสำหรับรถอีวีของนิสสันนั้นมีเป้าหมายในการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าลิเทียมไออน หรือ LFP ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ชนิดเดียวกันที่คู่แข่งสำคัญอย่างบีวายดีผลิตอยู่ในรถอีวีนั้น ได้รับการประเมินว่าจะสามารถลดต้นทุนของแบตเตอรี่ระหว่าง 20 ถึง 30% ให้กับนิสสัน เมื่อเปรียบเทียบกับแบตเตอรี่ไฟฟ้าแบบดั้งเดิม ก่อนหน้านี้โรงงานดังกล่าวมีแผนที่จะผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า สำหรับรถอีวีนิสสันภายในปี 2028 โดยกำลังการผลิตปีละ 5 กิกกะวัตต์ชั่วโมง)

ขณะที่การสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้เงินสนับสนุนโรงงานดังกล่าวของนิสสันเป็นมูลค่า 55,700 ล้านเยน หรือกว่า 12,727 ล้านบาท อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ยกเลิกการสนับสนุนเม็ดเงินดังกล่าวหลังจากที่นิสสันตัดสินใจยกเลิกการลงทุนในครั้งนี้

นิสสัน มอเตอร์ เปิดเผยต่อไปว่านโยบายในการตัดลดค่าใช้จ่ายยังคงต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยเฉพาะมีความจำเป็นที่จะต้องลดจำนวนพนักงานของนิสสันในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะกลายเป็นการปลดพนักงานของนิสสันที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปีผ่านมา หรือนับตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งนิสสันปลดพนักงานในปีดังกล่าวออกเป็นจำนวนมากถึง 1,500 คน

สำหรับแผนการปลดพนักงานในประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้จะใช้ โครงการเกษียณก่อนกำหนดซึ่งจะมีการประกาศรายละเอียดเร็วๆ นี้ แผนการพนักงานในประเทศญี่ปุ่นดังกล่าวไม่นับรวมกับแผนการปลดพนักงานทั่วโลกจำนวน 9,000 คนซึ่งได้ประกาศไปตั้งแต่ในช่วงปี 2024 ที่ผ่านมารวมถึงการลดกำลังการผลิตของนิสสันมาถึง 20% ทั่วโลก

ทั้งนี้ในเดือนเมษายนผ่านไปนิสสันเปิดเผยว่าคาดการณ์ผลประกอบการในปีงบประมาณสิ้นสุด 31 มีนาคม 2025 จะมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิถึง 700,000-750,000 ล้านเยน หรือ 4,800-5,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 158,400-169,620 ล้านบาท ส่งผลทำสถิติผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของนิสสัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles