บาทขยับอ่อน! ค่าเงินบาทวันนี้อ่อนค่าลงหลังดอลลาร์แข็งค่า-บอนด์ยีลด์ปรับขึ้นเร็ว

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้เปิดระดับ 36.60 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.43 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.45-36.70 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.40-36.60 บาทต่อดอลลาร์) ตามการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น “เร็วและแรง” ของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตในเดือนมีนาคมออกมาดีกว่าคาด สะท้อนว่าภาคการผลิตสหรัฐฯ พลิกกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่าเฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ย หรืออาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้ง ในปีนี้

นอกจากนี้เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงตามการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทั้งนี้การอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลงบ้างในช่วงโซนแนวต้าน 36.60 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน และการรีบาวด์ขึ้นกว่า +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ของราคาทองคำ ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำบ้าง

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท การอ่อนค่าเร็วและแรงของเงินบาทนั้น มีโอกาสที่จะชะลอลงบ้าง เนื่องจากโซนแนวต้าน 36.60 บาทต่อดอลลาร์นั้น อาจยังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้เล่นในตลาดอยู่พอสมควร อีกทั้งในเชิงเทคนิคัล เมื่อพิจารณาจากการเคลื่อนไหวของเงินบาท รายชั่วโมง เรามองว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าอาจชะลอลงบ้างจากสัญญาณ Bearish Divergence

ทั้งนี้ เมื่อประเมินจากภาพการเคลื่อนไหวของเงินบาทรายวัน ต้องยอมรับว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นยังมีอยู่ ทำให้หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 36.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน ก็อาจผันผวนอ่อนค่าต่อทดสอบโซน 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ทั้งนี้เรามองว่าการอ่อนค่าต่อของเงินบาทสู่ระดับดังกล่าว อาจต้องอาศัยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน หรือถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ส่วนใหญ่ต้องมีทิศทางเดียวกันว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้ง (ที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด)

อย่างไรก็ตาม ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป (อัตราเงินเฟ้อเยอรมนี) ในช่วง 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่อาจส่งผลต่อความผันผวนของเงินยูโร (EUR) และเงินดอลลาร์ได้ โดยหากอัตราเงินเฟ้อเงินเยอรมนีชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจลดดอกเบี้ยได้แน่นอนในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งอาจเป็นการลดดอกเบี้ยเร็วกว่าเฟด ส่งผลให้ เงินยูโรมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้ ในกรณีดังกล่าว ถัดมา ควรระวังช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดตั้งแต่ช่วง 21.00 น. เป็นต้นไป โดยต้องระวังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ที่ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย หรือลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้ง ซึ่งจะยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านถัดไปที่เราประเมินไว้ได้

กรุงไทยมองว่าหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ไม่ได้ทำให้ตลาดเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง ก็จะยังไม่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าไปมาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่อาจต้องการรอจับตารายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles