นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท วันนี้ เปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.70 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35. 47-35.71 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด โดยล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดได้ปรับลดโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม เหลือ 55%
นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวสู่โซนแนวรับสำคัยแถว 2,000-2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
อย่างไรก็ดี เงินบาทมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ส่งผลให้เงินยูโร (EUR) รีบาวด์แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) ที่สะท้อนว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายพื้นที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือ เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ส่วนตลาดแรงงานก็ชะลอตัวลง ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มไม่มั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ “เร็วและลึก” ตามที่คาดหวัง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ตามการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และการปรับตัวลดลงของบรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้ง ทองคำและน้ำมันดิบ ซึ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างทยอยเข้าซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวในจังหวะปรับฐาน โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
อย่างไรก็ดี มองว่า ควรจับตาแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของทางฝั่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ควบคู่ไปด้วย เพราะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งยูโรโซนและอังกฤษ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และ BOE ยังคงสะท้อนว่า ทั้งสองธนาคารกลางก็อาจไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยเช่นกัน ภาพดังกล่าวก็อาจช่วยหนุนเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ซึ่งจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้บ้าง
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ควรจับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งมีน้ำหนักราว 14% ในการคำนวณดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทำให้การผันผวนของเงินเยนญี่ปุ่นก็อาจส่งผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์ได้พอสมควร โดยในช่วงนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญญี่ปุ่น โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อ CPI เพื่อประเมินความเป็นไปได้ ของการปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในปีนี้ โดยหากตลาดลดโอกาสที่ BOJ จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ก็อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่นผันผวนอ่อนค่าลงได้ต่อเนื่องจากระดับปัจจุบันแถว 148 เยนต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญปัจจัยกดดันอ่อนค่าพอสมควร ทว่าการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยจนเข้าใกล้จุดต่ำสุดก่อนหน้า พร้อมกับการอ่อนค่าพอสมควรของเงินบาทในช่วงนี้ ก็อาจเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติรอจังหวะทยอยเข้าซื้อหุ้นไทยในช่วงปรับฐานอีกครั้งได้ ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยบ้าง ก็จะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ ทำให้เราประเมินว่า แนวต้านเงินบาทอาจยังอยู่ในโซน 35.70-35.80 บาทต่อ (ใกล้กับโซนที่เราประเมินเชิง Valuation ว่าเงินบาท Undervalued พอสมควร) ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังขาปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่า ทำให้โซนแนวรับยังอยู่แถว 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไปคือ 35.00 บาทต่อดอลลาร์)