นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ของโลกยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของระบบคลาวด์และ Data Center รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้ง Generative AI และ 5G ที่จะทำให้เกิดความต้องการใช้ระบบจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ของโลก ปัจจุบันร้อยละ 80 ของฮาร์ดดิสก์ทั้งโลกถูกผลิตจากประเทศไทย
โดยเฉพาะผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่อย่าง WD และ Seagate ซึ่งบริษัท Seagate ก็เพิ่งจะมีการขยายการลงทุนครั้งใหญ่เมื่อปี 2566 ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 – มิถุนายน 2567) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์และชิ้นส่วน จำนวน 42 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 82,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการขยายกิจการผลิต Hard Disk Drive (ฮาร์ดดิสก์) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มูลค่าลงทุน 23,516 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเขตอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จังหวัดปราจีนบุรี
บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (Western Digital: WD) เป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ระดับโลก สัญชาติอเมริกัน ที่ผ่านมาได้เข้าซื้อกิจการในธุรกิจจัดเก็บข้อมูลของบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น Fujitsu, Hitachi, SanDisk และ Komag ทำให้ปัจจุบันบริษัท WD มีส่วนแบ่งตลาดโลกอยู่กว่าร้อยละ 40 โดย WD ได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตหลักในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 และขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีการจ้างงานกว่า 28,000 คน โดยไทยเป็นโรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์เพียงแห่งเดียวที่มีการประกอบขั้นสุดท้ายและทดสอบ
นอกจากการผลิตฮาร์ดดิสก์แล้ว บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล ยังได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอีกหลายอย่าง เช่น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับฮาร์ดดิสก์ การพัฒนาบุคลากรในหลายรูปแบบทั้งโครงการสหกิจศึกษาในสาขา STEM และโครงการ Talent Mobility การใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงาน การพัฒนาโรงงานอัจฉริยะจนได้รับรางวัล Global Lighthouse Network และการพัฒนา SMEs ไทยในด้าน Smart Factory เป็นต้น
การขยายการลงทุนครั้งใหญ่ของบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกอีกกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี จะมีการจ้างงานบุคลากรไทยเพิ่มอีกกว่า 10,000 คน และจะสร้างประโยชน์ต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) ชิ้นส่วนโลหะและพลาสติก ชุด Power Supply เป็นต้น รวมมูลค่ากว่า 81,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 45 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งสิ้น