ปตท.สผ. เปิดกำไรไตรมาส 1/67อยู่ที่ 1.86 หมื่นล้านบาท ขยับลดลง นำส่งรายได้รัฐกว่า 7,000 ล้าน

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP)หรือ  ปตท.สผ.  เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2567 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 78,812 ล้านบาท (เทียบเท่า 2,209 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงประมาณร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 โดยปริมาณการขายเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 473,048 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการขายของโครงการในต่างประเทศลดลง ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 47.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จึงส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 18,683 ล้านบาท (เทียบเท่า 524 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน เนื่องจากในไตรมาส 4 ปี 2566 มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ของโครงการโมซัมบิก แอเรีย1 แต่กำไรไตรมาส1/2567ลดลงร้อยละ3.10 จากไตรมาส1/2566ที่มีกำไรสุทธิ 19,281 ล้านบาท( เทียบเท่า 569ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ทั้งนี้ บริษัทฯยังคงรักษาต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ไว้ที่ 28.96 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ร้อยละ 74 จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ปตท.สผ. ได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ ในไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวนกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ ส่วนแบ่งของผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการ G1/61 และ G2/61 ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ยังเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่รัฐได้รับโดยตรงจากการผลิตปิโตรเลียม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศอีกด้วย

นายมนตรี กล่าวว่า ในไตรมาส 1 /2567 ปตท.สผ. ได้เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ ปลาทอง

สตูล และฟูนาน) ขึ้นเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านพลังงานให้กับประชาชน โดยบริษัทมีแผนที่จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม เพื่อรักษากำลังการผลิตของโครงการอย่างต่อเนื่องและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำต่าง ๆ ของไทยในโครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect เพื่อพัฒนางานวิจัยทางวิชาการด้านธรณีศาสตร์ วิศวกรรมปิโตรเลียม สร้างบุคลากรด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึง การหาแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ โดยที่ผ่านมาได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles