ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือนเม.ย.68 พบว่าอยู่ที่ระดับ 55.4 ปรับตัวลดลงทุกรายการ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนต.ค.67 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0
โดยการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น มีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นผลพวงสืบเนื่องมาตั้งแต่เดือนก.พ. ที่สหรัฐฯ เริ่มประกาศมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่พืชผลทางการเกษตรหลัก ๆ ของไทยราคาย่อตัวลง ทำให้เม็ดเงินที่จะสะพัดในตลาดสินค้าเกษตรลดลงไปจากเดิม และยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มเติมเข้ามา โดยเฉพาะกรณีของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นแกนหลักในฝั่งรัฐบาล กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งปัญหาการเข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นการเมืองไทย ออกมาต่ำสุดในรอบ 7 เดือน แม้จะยังไม่มีสถานการณ์ที่บ่งชี้ชัดเจนว่าจะมีผลกระทบรุนแรง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลออกมาเพิ่มเติม เช่น มาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตในกลุ่มเยาวชน ที่ยังไม่มีความชัดเจน และต้องรอการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ที่คาดว่ารัฐบาลจะใช้เม็ดเงินราว 2-5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ หากการเมืองมีปัญหายุบสภา ก็อาจส่งผลให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 69 ต้องล่าช้าออกไปอย่างน้อย 3-6 เดือน ดังนั้น ถือว่าเรื่องการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค
ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเตรียมพร้อมในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อดึงให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวในช่วงปลายปี หลังจากที่น่าจะมีข้อสรุปในการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ แล้ว โดยต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำให้เกิดตัวคูณทางเศรษฐกิจมากขึ้น และมีการจ้างงานเพิ่ม มากกว่ามาตรการแจกเงิน