ผิดหวังตลาดหุ้นไทยปี 67 คาดโตแค่ 2% ผลตอบแทนย่ำแย่กว่าทั่วโลกปีที่ 2 ติดกัน กำไรบริษัทในตลาดหุ้น 9 เดือนแรกปีนี้ร่วง 5% จ่อลากกำไรบริษัทในตลาดหุ้นไทยตกต่ำปีที่ 3 ติดกัน ความเชื่อมั่นนักลงทุนหดหาย

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ บล.ทิสโก้ และอดีตประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับมุมมองการลงทุนตลาดหุ้นปี 2025 มีดังนี้

ปี 2025 ลงทุนไม่ง่าย ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีมากสำหรับการลงทุน เพราะสินทรัพย์เสี่ยงส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง และมีเพียงไม่กี่ตลาดหุ้นและตราสารไม่กี่ประเภท ที่ให้ผลตอบแทนติดลบ

สินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในปีนี้คือ ทองคำ (+29%) โดยได้อานิสงส์ดอกเบี้ยโลกขาลง ดอลลาร์อ่อน และความไม่สงบในหลายพื้นที่ ส่วนตลาดหุ้นที่ขึ้นมากที่สุดคือ ปากีสถาน (+84%) ตุรกี (+35%) ฮังการี (+32%) ไต้หวัน (+28%) และสหรัฐฯ (+27%) ตลาดหุ้น Developed Markets ปรับขึ้นเกือบทุกตลาดในปีนี้ ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ส่วนตลาดที่ไม่ได้ปรับขึ้น ก็ลดลงเล็กน้อยเท่านั้น คือ ฟินแลนด์ (-3%) ฝรั่งเศส (-2%) และโปรตุเกส (-1%) ตลาดที่เหลือให้ผลตอบแทนเฉลี่ย +14%

ในฝั่ง Emerging Markets มีตลาดหุ้นที่ปรับลง 5 ตลาด คือ เม็กซิโก (-10%) บราซิล (-7%) เกาหลีไต้ (-6%) กาตาร์ (-3%) และโปแลนด์ (-3%) ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยลบภายใน ตลาดหุ้นที่เหลือปรับขึ้นเฉลี่ย +19% ภาวะตลาดทุนที่สดใสในปีนี้ ไม่เกินความคาดหมาย เพราะนอกจากอานิสงส์ดอกเบี้ยโลกขาลง ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการค้าโลก วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และความร้อนแรงของหุ้นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI

ที่น่าผิดหวังที่สุดคือตลาดหุ้นไทย (+2%) ที่ Underperform ตลาดหุ้นโลกเป็นปีที่สองติดต่อกัน ถ้านับจากต้นปี 2023 มีตลาดหุ้นเพียง 8 แห่งในโลก ที่ให้ผลตอบแทนติดลบ ซึ่งตลาดหุ้นไทย (-14%) คือหนึ่งในนั้น อยู่ใน “อันดับรองสุดท้าย” เป็นรองแค่ ตลาดหุ้นบังกลาเทศ (-18%) ในขณะที่ตลาดหุ้นที่เหลือปรับขึ้นเฉลี่ย 53% สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีผลงานย่ำแย่ต่อเนื่อง นอกจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน คือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยที่ยังอยู่ในขาลง

ช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีที่สามติดต่อกันที่กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยหดตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่ SET Index แทบไม่ขยับขึ้นในปีนี้ เพราะผลประกอบการคือแรงขับเคลื่อนที่มีอิทธิพลสูงที่สุดต่อราคาหุ้น เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น กำไรต่อหุ้น หรือ EPS ของบริษัทจดทะเบียนไทย แตะจุดสูงสุดที่ 99 บาท เมื่อปี 2017 หลังจากนั้นก็ลดลงมาตลอด ปีนี้คาดว่า EPS จะจบปีที่ 78 บาท เท่ากับลดลง 21% จากปี 2017 ซึ่งสอดคล้องกับ SET Index ที่ลดลง 22% จากจุดสูงสุดที่ 1,838 เมื่อต้นปี 2018

แม้รัฐบาลมาถูกทางด้วยการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีสำหรับการลงทุนในกองทุน Thai ESG เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทย แต่การแก้ปัญหาด้าน “Demand” อย่างเดียว ไม่น่าเห็นผลแรงในการสร้างกระแสการลงทุนให้กลับคืนมา ตราบใดที่นักลงทุนยังไม่มั่นใจว่าวัฏจักรกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะกลับสู่ขาขึ้น การขาดตัวเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ เช่น หุ้นในกลุ่มธุรกิจอนาคต รวมทั้งความกังวลของนักลงทุนเรื่องความโปร่งใสของบริษัทจดทะเบียน คืออีกอุปสรรคใหญ่ด้าน “Supply” ของตลาดหุ้นไทย ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไข แน่นอน การแก้ปัญหาด้าน “Supply” ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ถ้ารัฐบาลสามารถบริหารเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้ในระดับ 3-4% ต่อปี และเอาจริงกับการลงโทษบริษัทจดทะเบียนที่ทำผิดกฎระเบียบ ผมเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้หุ้นไทยกลับมามีความน่าสนใจได้

ในภาพรวม ปี 2025 คาดว่าจะเป็นปีที่ลงทุนยาก เนื่องจากวัฏจักรขาลงของดอกเบี้ยสหรัฐฯ ใกล้จบรอบเร็วกว่าที่คาด ผลพวงจากนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อในระยะยาว คุณสมบัติที่ “คาดเดาได้ยาก” ของทรัมป์ คืออีกหนึ่งความเสี่ยงที่ตลาดทุนทั่วโลกต้องเผชิญ ซึ่งน่าจะทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกที่จะลงทุนแบบระมัดระวังมากขึ้นกว่าเดิม

ทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ น่าจะยังอยู่ในขาขึ้นในปีหน้า จากอานิสงส์นโยบายทรัมป์ในการลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% และลดกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจ แต่ Upside น่าจะมีจำกัด เพราะ Forward P/E ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ 23 เท่า จัดอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลังสิบปี ที่ 20 เท่า และค่าเฉลี่ยช่วงก่อนโควิดที่ 17 เท่า ในสภาวะตลาดแบบนี้ หุ้นสหรัฐฯ กลุ่ม Value Stocks ซึ่งเทรดที่ Forward P/E ที่ 17 เท่า มีโอกาส Outperform กลุ่ม Growth Stocks ที่เทรดที่ Forward P/E สูงถึง 29 เท่า ซึ่งหุ้นเทคโนโลยีรวมอยู่ในกลุ่มหลังนี้ด้วย

แนวโน้มตลาดหุ้นเกิดใหม่โดยรวมดูน่ากังวลมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน จากความเสี่ยงสงครามการค้าโลกรอบใหม่ที่อาจปะทุขึ้น แต่จีนมีตัวช่วยสำคัญคือรัฐบาลจีน ที่คาดว่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปีหน้า ตลาดหุ้นอินเดีย มีแนวโน้มกลับมา Perform ได้ดีในปีหน้า หลังจากมีการปรับฐานไปแล้วในช่วงปลายปีนี้ อีกทั้งเศรษฐกิจอินเดียพึ่งพากำลังซื้อภายในเป็นหลัก จึงไม่น่าได้รับผลกระทบมากนักจากความเสี่ยงสงครามการค้า

กล่าวโดยสรุป นักลงทุนควรลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้นในปีหน้า หุ้นยังเป็นสินทรัพย์ที่ลงทุนได้ เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังดูไม่น่าห่วง และนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ก็น่าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ควรมีการกระจายความเสี่ยงไปในหลายตลาดหุ้น และเน้นหุ้นประเภท Defensive Stocks และ Value Stocks ทองคำยังน่าลงทุน เพราะป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อได้ดี สำหรับหุ้นไทย แนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ การบริโภค การแพทย์ การขนส่ง และการท่องเที่ยว

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles