จากข้อมูล เฟซบุ๊กเพจของพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 6-12 เม.ย. 68 รวมทั้งสิ้น 666,180 คน เฉลี่ยวันละ 95,169 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า ถึง 10.73% ซึ่งบ่งบอกได้ว่าเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีความคึกคัก ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 เม.ย. 68 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมรวม 10,738,424 คน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 516,589 ล้านบาท
นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) พรรคประชาชน มองว่า อยากให้พิจารณาข้อมูลอย่างครบถ้วน แล้วอาจจะเห็นภาพที่เปลี่ยนไป โดยหากอ้างอิงข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อปีที่แล้ว (8-14 เม.ย. 67) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทย 735,802 คน เฉลี่ย 105,115 คน/วัน ขณะที่ในปีนี้ (7-13 เม.ย. 68) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยเพียง 666,180 คน เฉลี่ย 95,169 คน/วัน ซึ่งไม่ทะลุแสนคน/วัน เมื่อเทียบกัน 2 ปี (67-68) จะพบว่าในปี 68 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวลดลงถึง 9.46% ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก
นายเดชรัต กล่าวว่า “โจทย์ใหญ่” คือ นักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเข้ามาท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 1 ลดลง 32% ขณะที่นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเข้ามาท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 2 ลดลงถึง 45% ส่วนประเทศที่เพิ่มขึ้น คือ อันดับ 3 อินเดีย เพิ่มขึ้น 53% และอันดับ 4 รัสเซีย ที่เพิ่มขึ้น 16%
ทั้งนี้ ถ้าเห็นข้อมูลรอบด้านมากขึ้น คงเข้าใจว่าตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขที่น่ายินดี แต่เป็นตัวเลขที่ต้องมาช่วยกันแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาในไทย ลดลงมาตั้งแต่เดือนก.พ. และมี.ค. 68 ที่ผ่านมา โดยในเดือนก.พ. ลดลง 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน เดือนมี.ค. ลดลง 9% และในครึ่งแรกของเดือนเม.ย. ก็ยังลดลงอีก โดยในปี 67 มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 96,688 คนต่อวัน แต่ปี 68 มีนักท่องเที่ยว 91,494 คนต่อวัน ลดลง 5.4% ซึ่งจำเป็นต้องรีบช่วยกันแก้ปัญหานี้ ก่อนที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจนี้จะช็อตไปอีก
ด้านนายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ เขต 3 พรรคประชาชน กล่าวว่า เมื่อเทียบตัวเลขนักท่องเที่ยว 2 ปี จะเห็นได้ชัดว่าลดลง ซึ่งผิดคาดไปจากที่รัฐบาลคิดว่าเมื่อผ่านพ้นวิกฤตโควิดแล้ว ตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสาเหตุหลักที่นักท่องเที่ยวจีนหายไปก็เพราะเหตุการณ์ลักพาตัวนักแสดงจีนไปเข้าร่วมขบวนการแก๊งคอลเซนเตอร์
“การหลอกลวงในบ้านเรา มากเสียจนเขาไม่กล้ามา ซึ่งสะท้อนว่า การตลาดเชิงรุกที่ภาครัฐไทยพยายามทำ ยังไม่สามารถลบล้างภาพลักษณ์ด้านลบได้สำเร็จ” นายณัฐพล ระบุ
ส่วนเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป เช่น สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งต่างชาติมีความกังวล ไม่อยากมาเพราะไม่อยากเจอฝุ่น รวมถึงเหตุผลด้านเศรษฐกิจโลกที่เริ่มจะไม่มั่นคง เอาแน่เอานอนกับสหรัฐฯ ไม่ได้ ซึ่งอาจจะทำให้กระเป๋าสตางค์ของคนทั้งโลกแฟบลง นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดจากการให้ฟรีวีซ่า ก็นำมาซึ่งนักท่องเที่ยวที่ไม่เคารพคน ไม่เคารพกฎระเบียบของบ้านเรา ถึงแม้อาจจะมีกรณีไม่มาก แต่เมื่อถูกสื่อสารออกไป ก็ทำให้ภาพลักษณ์ด้านลบของประเทศไทยถูกกระจายออกไปแล้ว
ความจริงแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างรับทราบถึงแนวโน้มการถดถอยนี้ และมีความพยายามที่จะรับมือ แต่ผลยังไม่ปรากฏเท่าที่ควร โดยตนมีข้อคิดเห็นต่อนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ของรัฐด้านการท่องเที่ยว ดังนี้
1. การเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Made Destination) อย่างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ คงไม่เกิดเร็ว ๆ นี้ ต้องใช้เวลาในการถกเถียงและก่อสร้างอีกยาวนาน แต่สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในไทย ยังมีอีกมากที่ทำให้ดีกว่านี้ได้ คนไทยจะได้เที่ยวที่ใหม่ ๆ และหยิบมาโฆษณาขายชาวต่างชาติได้
2. ปีที่แล้ว รัฐบาลออกโครงการลดหย่อนภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง แต่ก็มีข้อจำกัดสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก ที่ออกใบกำกับภาษีไม่ได้ ส่วนโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็ยังไม่เคาะวงเงินที่รัฐจะใช้ ต้องคำนวณให้ดีว่าจะสร้างการหมุนเวียนเท่าไร คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไปหรือไม่
3. ขอให้รัฐบาลถือโอกาสนี้ มาโฟกัสที่คุณภาพชีวิตดี ๆ มาตรฐานการท่องเที่ยวดี ๆ โครงสร้างพื้นฐานของเมืองรอง การคมนาคมเชื่อมโยงที่สะดวกขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งคนไทย และคนต่างชาติ
4. กิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่สร้างการเดินทาง (Non-leisure Activities) เช่น การจัดประชุม การรักษาพยาบาล การมาเรียน การมาทำงาน งานกีฬา และกองถ่ายต่างประเทศ เป็นต้น กิจกรรมประเภทนี้มีหน่วยงานประจำทำอยู่แล้ว แต่ได้รับงบประมาณน้อย รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญมากขึ้นในช่วงนี้
5. การยกระดับเทศกาลไทยสู่ระดับโลกเพื่อดึงคน แนวคิดนี้ถูกต้องแล้ว ซึ่งไทยมีสงกรานต์กับลอยกระทง แต่เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมารัฐบาลเคาะงบประมาณล่วงหน้าแค่ 1 เดือนครึ่งก่อนถึงวันงาน ส่วนการประชาสัมพันธ์ก็ล่าช้ามาก จึงไม่แน่ใจว่างานของรัฐบาลได้กระตุ้นให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยมากขึ้นแค่ไหน แต่ปีนี้ยังมีโอกาสที่งานลอยกระทง ซึ่งกลางปีนี้รัฐบาลควรจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ได้แล้ว อย่าปล่อยให้ล่าช้า
6. รัฐบาลมีคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งคณะท่องเที่ยวและคณะภาพยนตร์-ซีรีส์-สารคดี เราควรส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือคอนเทนต์เพื่อสร้างความหลงใหลให้คนอยากมาเที่ยวประเทศไทย และสอดแทรกภาพลักษณ์เชิงบวก เพื่อไปสู้กับภาพลักษณ์เชิงลบที่เกิดจากการแพร่กระจายข่าวระหว่างนักท่องเที่ยวด้วยกัน
นายกิตติ พรศิวะกิจ นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย เปิดเผยสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 68 หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงเฉลี่ย 10,000-15,000 คน/วัน ในช่วง 3 สัปดาห์แรก และน่าจะยังมีผลกระทบอีก 6 สัปดาห์ ในระดับ 7,000-8,000 คน/วัน รวมนักท่องเที่ยวลดลงไปกว่า 550,000 คน รายได้ท่องเที่ยวหายไปกว่า 2.75 หมื่นล้านบาท
โดยจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 10-15 เม.ย. 68 มีดังนี้
วันที่ 10 เม.ย. ที่ 91,771 คน,11 เม.ย. ที่ 124,220 คน,12 เม.ย. ที่ 122,984 คน ,13 เม.ย. ที่ 93,145 คน,14 เม.ย. ที่ 75,788 คน,15 เม.ย. ที่ 62,702 คน
จำนวนนักท่องเที่ยวภาพรวม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 เม.ย. 68 อยู่ที่ 10.81 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.84% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ตลาดจีนลดลง 27% ทั้งที่เดือนม.ค. เพิ่ม 20% ส่วนตลาดมาเลเซีย ลดลง 3.63% โดยตลาดจีนในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ลดไปกว่า 45-50% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจาก 18,000-20,000 คน/วัน เหลือ 8,000-11,000 คน/วัน