นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ศึกษาข้อมูลการส่งออกสินค้าไปยังแต่ละมณฑลของจีน เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย เจาะเป้าหมายเมืองรองของจีน ที่ขนาดเศรษฐกิจระดับมณฑลของจีนหลายแห่งยังใหญ่กว่าไทยมาก
ในปี 2567 รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมาย การเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละมณฑลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งในช่วงต้นปี 2567 เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีทั้งภาคการลงทุน การบริโภค และการส่งออก ตอกย้ำถึงความยืดหยุ่นและแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หากไทยสามารถเข้าถึงตลาดในระดับมณฑลที่มีความหลากหลายในเชิงวิถีชีวิต วัฒนธรรม การอุปโภคบริโภค และรูปแบบการค้ากับต่างประเทศได้อย่างเหมาะสม ก็จะเป็นโอกาสขยายการส่งออกสินค้าของไทยได้เพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละมณฑลของจีนใน 31 มณฑล/เขตการปกครอง พบว่าไทยมีส่วนแบ่งการตลาดในแต่ละมณฑลเฉลี่ย ร้อยละ 2.05 ด้วยมูลค่าที่จีนนำเข้าสินค้าจากไทยเฉลี่ยมณฑลละ 51,072 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมณฑลที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ เขตปกครองตนเองทิเบต เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และมณฑลยูนนาน
อีกทั้งยังวิเคราะห์สินค้าส่งออกศักยภาพของไทยในจีนรายมณฑล โดยพิจารณาจากสัดส่วนการนำเข้าสินค้าของไทยในแต่ละ 31 มณฑล/เขตการปกครอง ในปี 2566 โดยเปรียบเทียบกับสัดส่วนการนำเข้าสินค้าของมณฑลนั้นๆ กับประเทศอื่นทั่วโลก ซึ่งใช้หลักการเดียวกับดัชนีความสามารถในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบ (Revealed Comparative Advantage: RCA) และใช้รายการสินค้าตามพิกัดศุลกากร 4 หลัก จากการศึกษาพบว่า ไทยมีสินค้าศักยภาพหลายรายการที่ส่งออกไปยังแต่ละมณฑลของจีน โดยเฉลี่ยมีสัดส่วนสินค้าศักยภาพมากกว่ากึ่งหนึ่งของรายการสินค้าที่มีการนำเข้าจากไทย สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 53.9
เมื่อพิจารณาสัดส่วนสินค้าศักยภาพของแต่ละมณฑล ร่วมกับระดับการทำการค้ากับไทยและกับโลก รวมถึงขนาดเศรษฐกิจรายมณฑล พบว่ามีมณฑลที่น่าสนใจที่กระทรวงพาณิชย์ควรมุ่งเน้นส่งเสริม รวมถึงมณฑลที่มีการส่งเสริมอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่สามารถพัฒนาการส่งออกได้เพิ่มขึ้น ผ่านการผลักดันสินค้าศักยภาพต่างๆ เช่น มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู มหานครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง และมณฑลเจ้อเจียง
ทั้งนี้ สินค้าศักยภาพในภาพรวมทุกมณฑล ส่วนใหญ่เป็น สินค้าประเภทอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.3 จากสินค้าศักยภาพทั้งหมด เช่น ทองแดง ยางรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง คอนเทนเนอร์ และยานยนต์ ขณะที่ สินค้าเกษตรและอาหาร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.7 เช่น แป้งธัญพืช ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มะพร้าว และผลไม้ เป็นต้น
ผลการวิเคราะห์ข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการช่วยส่งเสริมการส่งออกได้อย่างตรงจุด ซึ่งภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ สามารถใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการค้าให้สอดคล้องตามศักยภาพ อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการยกระดับสินค้าอื่นๆ ของไทยให้มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการและผู้ส่งออกสินค้า สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการผลักดันการส่งออกสินค้าไปยังแต่ละมณฑลของจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่ความสามารถทางการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่น และจะยิ่งส่งเสริมให้เศรษฐกิจการค้าไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้นต่อไป