นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย ( เงินเฟ้อ ) เดือนพฤษภาคม 2567 เงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับ 108.84 เทียบเดือนพฤษภาคมปีก่อน สูงขึ้น 1.54 % เป็นการสูงขึ้นในรอบ 13 เดือน หาเทียบเดือนเมษายนปีนี้สูงขึ้น 0.19% โดยมีปัจจัยสำคัญต่อเงินเฟ้อพฤษภาคมสูงขึ้น จากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อนหน้าที่รัฐออกมาตรการช่วยเหลือ รวมถึงราคาเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ สูงตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลก ราคาผักสดและไข่ไก่สูง จากสภาพอากาศร้อนส่งผลให้ปริมาณผลผลิตน้อยลง ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก สำหรับ เงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงาน) เทียบเดือนพฤษภาคมปีก่อน สูงขึ้น 0.39 % และเทียบเดือนเมษายนปีนี้ สูงขึ้น 0.37 %
ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นถึง 1.54% จากการเคลื่อนไหวของราคาสินค้า คือ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.13% สินค้าสำคัญ คือ กลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสด (ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ มะเขือ กะหล่ำปลี ขิง ผักชี) ผลไม้สด (มะม่วง องุ่น กล้วยหอม) ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ และไข่เป็ด กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน) และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย น้ำพริกแกง มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด)) ขณะที่ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร มะนาว ปลาทู น้ำมันพืช และกระเทียม เป็นต้น
ขณะที่ หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.84% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ 91 95 และ E20 น้ำมันเบนซิน 95) กลุ่มเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) กลุ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน ค่าแต่งผมสตรี) กลุ่มยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (สุรา บุหรี่ ไวน์) โดยหลายสินค้าราคาลดลง อาทิ น้ำมันดีเซล ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว เสื้อยืดบุรุษและสตรี และเสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี เป็นต้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 5 เดือนแรกปี 2567 ลดลง 0.13 % เงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.42% โดยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายน 2567 คาดปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง และคาดสูงขึ้น 1.0-1.1% เทียบเดือนเดียวกันปีก่อน จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปครึ่งปีแรก 2567 สูง 0.9-1.0% และครึ่งหลังของปีเฉลี่ยเกิน 1% ต่อเดือน เนื่องจากบางเดือนฐานปีก่อนต่ำด้วยมีการติดลบในไตรมาส4ของปี โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 2567 อยู่ระหว่าง 0.0 – 1.0 % และค่ากลาง 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน บนสมมุติฐาน เศรษฐกิจขยายตัว 2.2-3.2% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 80-90 เหรียญสหรัญต่อบาร์เรล และ ค่าบาท 34.5-36.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
” การจะปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ ขึ้นกับ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. สงครามอิสราแอลและฮามาส ที่มีผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าทางเรือ ต้องแบกภาระสูงขึ้น และสร้างความยุ่งยากกับการส่งออก 2. สภาพอากาศ ที่มีผลกระทบตรงต่อผลผลิตและราคาเกษตร และอาหารปรุงสำเร็จ ซึ่งตอนนี้ออกจากเอลญีโญ เข้า ลานีญา ฝนจะชุกแค่ไหน และพืชเกษตรจะเสียหายอย่างไรหรือไม่ 3. มาตรการรัฐต่างๆ ที่จะทยอยออกจากนี้ ” นายพูนพงษ์ กล่าว
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับสาเหตุสำคัญต่อเงินเฟ้อเดือนมิถุยายน 2567 คือ 1. ผลกระทบจากฐานราคาต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าลดลง 2.การต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของครัวเรือน อีก 4 เดือน (พ.ค. – ส.ค. 2567) 3. ราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะผักสดมีแนวโน้มลดลง หลังสิ้นสุดสภาพอากาศร้อนจัด และเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และ 4.การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาขาย รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่มีการทำโปรโมชันส่งเสริมการขาย
ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้สินค้าบางชนิดยังอยู่ในระดับสูง ได้แก่1. ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ ปรับมาอยู่ที่ 33.00 บาทต่อลิตร สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 2. ความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตาม
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อของไทยเกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น 0.19% ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 6 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำสุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศ (ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย) ที่ประกาศตัวเลข