นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยอดการจะทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ 7,432 ราย ลดลง 301 ราย (-3.89%) เมื่อเทียบกับมี.ค.67 (7,733 ราย) และทุนจดทะเบียนรวม 38,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,489 ล้านบาท (74.45%) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 (22,146 ล้านบาท) ด้านธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 573 ราย มูลค่าทุน 1,351 ล้านบาท 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 523 ราย ทุน 2,110 ล้านบาท 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 298 ราย ทุน 619 ล้านบาท
โดยในเดือน มี.ค. 68 มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 4 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน รวมทั้งสิ้น 18,979 ล้านบาท ได้แก่ 1. บมจ.ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น ทุนจดทะเบียน 11,024 ล้านบาท 2. บมจ.ฮ็อป อินน์ โฮเต็ล ทุนจดทะเบียน 3,575 ล้านบาท 3. บริษัท คอมเปค เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท และ 4. บริษัทเจ็ม-เยียร์ อินดัสเทรียล จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,380 ล้านบาท ขณะที่การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการในเดือน มี.ค. 68 มีจำนวน 889 ราย ลดลง 22 ราย (-2.41%) ทุนจดทะเบียนเลิก 4,842 ล้านบาท
ส่วนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.) มีจำนวนทั้งสิ้น 23,823 ราย ลดลง 1,180 ราย (-4.72%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 (25,003 ราย) ทุนจดทะเบียน 79,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,980 ล้านบาท (17.63 %) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 (67,941 ล้านบาท) โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 1,892 ราย ทุนจดทะเบียน 4,113 ล้านบาท 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,608 ราย ทุนจดทะเบียน 6,266 ล้านบาท และ 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 973 ราย ทุนจดทะเบียน 1,960 ล้านบาท
ขณะที่การจดทะเบียนเลิกกิจการในไตรมาสแรกของปี 2568 มีจำนวน 3,107 ราย เพิ่มขึ้น 298 ราย (10.61%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 (2,809 ราย) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสม อยู่ที่ 11,859 ล้านบาท
ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคล รวมทั้งสิ้น 1,988,655 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.49 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ 942,367 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.24 ล้านล้านบาท
สำหรับนิติบุคคลในกลุ่มธุรกิจบริการ เป็นประเภทธุรกิจที่มีสัดส่วนการจดทะเบียนมากที่สุด จำนวน 509,271 ราย ทุนจดทะเบียน 12.81 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีก 309,015 ราย ทุน 2.56 ล้านล้านบาท และธุรกิจการผลิต 124,081 ราย ทุน 6.87 ล้านล้านบาท
หากวิเคราะห์ตัวเลขการจดทะเบียนในไตรมาสแรกของปี 2568 ที่พบว่าการจดทะเบียนจัดตั้งมีจำนวนที่ลดลงเล็กน้อย อาจสืบเนื่องมาจากปัจจัยทางจิตวิทยา ที่นักลงทุนรอดูสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างประเทศ และนโยบายภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐอเมริกา (Reciprocal Tariffs) ที่จะชี้ทิศทางของการค้า และเศรษฐกิจโลก ประกอบกับกังวลว่าถ้าจัดตั้งธุรกิจในช่วงนี้อาจต้องเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงในการบริหารธุรกิจ รวมถึงปัจจัยความเข้มงวดของกระทรวงพาณิชย์ ในการปราบปรามธุรกิจนอมินี หรือธุรกิจทุนสีเทา ที่จะทำให้ธุรกิจต้องมีความรัดกุมมากขึ้น ในการเตรียมความพร้อมก่อนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท