นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้หารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมการหางาน และสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานกัมพูชาในไทย พบว่า ขณะนี้ยังไม่มีแรงงานกัมพูชา แจ้งความประสงค์แก่นายจ้างว่า จะขอกลับประเทศโดยปัจจุบันมีแรงงานกัมพูชาทำงานในไทย เกือบ 500,000 คน แบ่งเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฏหมายในระบบ 400,000 คน แรงงานนอกระบบ 10,000-20,000 คนและแรงงานที่จะเข้ามาทำงานในไทย เฉพาะช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตรอีก 20,000 คน (ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย ในพื้นที่จันทบุรี ระยอง และตราด ) ซึ่งในส่วนนี้ เป็นกลุ่มแรงงานที่รัฐบาลกัมพูชา ประกาศขอคืนกลับประเทศ
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า จะไม่เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน เพราะไทยได้ทำ MOU นำเข้าแรงงานกัมพูชาเข้ามาทำงานในไทย ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 67 และจะสิ้นสุด MOU ในเดือนกุมภาพันธ์ 69 อีกทั้ง ยังมีแรงงานชาติอื่น ที่พร้อมเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะเมียนมา ซึ่งรอทำMOU 1.8 ล้านคน และแรงงานที่รอทำเอกสารรับรองบุคคล หรือ CI หรือกลุ่มแรงงานเมียนมาที่ลักลอบเข้ามาอยู่ในไทยแล้ว และรอขึ้นทะเบียนอีก 1 ล้านคนในขณะที่แรงงานด้านประมงนั้น บังกลาเทศก็แจ้งความประสงค์ ต้องการเข้ามาทำงานในไทยเช่นกัน
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า แม้ทางกัมพูชาจะเรียกแรงงานกลับ ก็เป็นสิทธิของแรงงานกัมพูชาว่า จะกลับหรือไม่ โดยขณะนี้ มีตำแหน่งงานว่าง 70,000 คน จะเรียกกลับไป 500,000 คน แล้วที่เหลือจะทำงานอะไรต่อ ก็เป็นการบ้านที่รัฐบาลกัมพูชาต้องกลับไปคิด ทางไทยจะไม่คิดเผื่อทีมข่าวลงพื้นที่ตลาดห้วยขวาง พูดคุยกับแรงงานชาวกัมพูชา ที่ทำงานอยู่ภายในตลาด ถึงข้อเรียกร้องของรัฐบาลกัมพูชา ที่ขอให้แรงงานกัมพูชาเดินทางกลับไปทำงานที่บ้านนายกอล์ฟ
หนึ่งในคนงานชาวกัมพูชา ที่ทำงานอยู่ในไทยมากว่า 12 ปี ยืนยันว่า ตนเองยังอยากทำงานอยู่ที่ประเทศไทย และคงไม่กลับไปทำงานที่กัมพูชาอย่างแน่นอน แม้กระแสในโซเชียลเกี่ยวกับความขัดแย้งของไทยและกัมพูชาจะดูรุนแรง แต่นายกอล์ฟ ยืนยันว่า ในชีวิตทุกอย่างยังคงปกติ ตนเองก็ทำงานขายของให้คนไทย ไม่มีปัญหาขัดแย้งอะไรดังนั้นจึงไม่อยากให้คนทั้ง 2 ประเทศ เชื่อข่าวในโซเชียลมากนัก เพราะในชีวิตจริงทุกอย่างยังเป็นปกติส่วนตัวอยากให้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ เจรจาคุยกันให้ปัญหาความขัดแย้งยุติ เพราะ 2 ประเทศ เปรียบเหมือนบ้านพี่เมืองน้อง