เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงรัฐบาล ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องของแต่ละฝ่าย แต่ละหน้าที่ รัฐบาลเคารพการตัดสินใจและจะไม่ก้าวก่ายการดำเนินนโยบายทางการเงิน ขณะเดียวกัน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมนัดพิเศษ ก่อนกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 10 เมษายน 2567 หรือไม่ ต้องให้ กนง.เป็นผู้พิจารณา
ทั้งนี้ จากที่พูดคุยหลายครั้งว่ามาตรการช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต้องมีมาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงินทำงานควบคู่กันไป ขณะนี้รัฐบาลได้ใช้มาตรการทางคลังเกือบครบถ้วนแล้ว และมีการเตรียมพร้อมจะขยายเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นมาตรการทางการเงินควรจะไปด้วยกัน โดยหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมจะช่วยทำให้มาตรการทางการคลังและการเงินเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งความเห็นส่วนตัวก็อยากให้ลดดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ก้าวก่ายการทำงานของ กนง. อย่างไรก็ตาม ถ้าการลดดอกเบี้ยแล้วดีก็ช่วยกันทำ ไม่ใช่ว่าเป็นผลงานของใคร ถือเป็นการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่มีใครปฏิเสธว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต้องพึ่งทั้งมาตรการทางการคลังและการเงิน ทั้ง 2 อย่างต้องประสานกัน เพื่อประโยชน์โดยรวม
อย่างไรก็ตามการพิจารณาเรื่องการประชุมของ กนง.ขึ้นอยู่กับการพิจารณาข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน หรือการประเมินความเหมาะสมของแต่ละส่วน ซึ่งมาช้าดีกว่าไม่มา ถือว่าช่วยกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และเป็นปัญหาด้านความเชื่อมั่น เพราะหากหลายฝ่ายเห็นถูกทางร่วมกัน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผลที่จะออกมา ถ้าดำเนินการแล้วสามารถสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศได้จะไม่มีใครถามถึงปัญหา และจะสบายใจต่อผลที่จะออกมามากกว่า
ด้านนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับ 2.5% ว่า อยากเสนอแนะต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้พิจารณาอัตราดอกเบี้ยซึ่งปัจจุบันระดับ 2.5% ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง และยังไม่มีกลไกกำกับดูแลว่าควรจะอยู่ที่อัตราเท่าไหร่ ทั้งนี้หากเปรียบเทียบตัวเลขระหว่างเงินกู้ไทยเทียบกับประเทศอาเซียน ของไทยถือว่าสูงกว่ามาก ดังนั้นอาจต้องพิจารณาระดับที่เหมาะสม
“ไม่ก้าวล่วงธนาคารแห่งประเทศไทย แต่อยากจะขอร้องให้ช่วยกลับไปดู เพราะประเทศเพื่อนบ้านขึ้นดอกเบี้ยเฉลี่ยน้อยกว่าไทย ดังนั้นจึงยังมีประเด็นอื่นที่ต้องดู อาจขึ้นอยู่กับวิธีบริหารจัดการของธนาคาร และอาจต้องดูทั้งระบบ จึงอยากให้รีวิวเรื่องนี้ ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องปรับลงมากเหมือนสิงคโปร์” นายมนตรี กล่าว