นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า คำสั่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือครม. เมื่อวันอังคารที่ 18 มิถุนายน ที่มีตนเองเป็นประธานการประชุมครม.นั้น ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยแก้กฏหมายช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์เพิ่มเป็น 75% และถือครองได้ 99 ปี ว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานประชุมครม.ในวันดังกล่าว เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากมติครม.เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2567 ซึ่งมีมติที่กระทรวงการคลังเสนอให้ครม.พิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นแพ็กเก็จที่มีประมาณ 10 ประเด็น ซึ่งเป็นการรวบรวมความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ประชาชน ภาคเอกชน
โดยมี 2 เรื่องที่ค้างอยู่ให้ไปศึกษาความเป็นไปได้ คือ 1. การพิจารณาทบทวนการกำหนดระยะเวลาของทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.2562 โดยกำหนดให้ทรัพย์อิงสิทธิ มีกำหนดเวลาได้ไม่เกิน 99 ปี และ 2.การพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฏหมายที่เกี่ยวก้ับการให้สิทธิคนต่างด้าว สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในห้องชุด จากเดิม 49% เป็นไม่เกิน 75% จึงเป็นข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยไปศึกษาเรื่องนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา และได้เร่งรัดในการดำเนินการและศึกษาความเป็นไปได้ ดังนั้น การประชุมครม.เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.เป็นการมารับทราบความคืบหน้า ไม่ได้มีการจัดการใดๆ ก่อนที่จะนำข้อเสนอว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ มาเสนอต่อครม.
รองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม กล่าวว่า การกำหนดเกณฑ์สัดส่วนการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ ตอนนี้ยังไม่มีเกณฑ์แต่มีข้อเสนอมาที่ต้องไปรับฟัง ส่วนไหนทำได้ก็ทำไป แต่ 2 ข้อนี้ยังต้องศึกษาความเป็นไปได้ ไม่ได้มีการอนุมัติแต่อย่างใด ยืนยันว่า การประชุมครม.ในวันนั้นแค่มาตามเรื่องผลการศึกษามีความคืบหน้าอย่างไร จึงขอให้ช่วยดูรายละเอียดและสรุปเข้ามารายงานในที่ประชุมครม.อีกครั้ง และไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาว่า จะต้องได้ข้อสรุปเมื่อไร แต่ก็ให้ทำโดยเร็ว เพราะก่อนหน้านี้ใช้เวลาไปนานแล้ว แต่หากผลสรุประบุว่า ได้หรือไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร
ขณะเดียวกันจะนำแนวทางการศึกษาจากรัฐบาลที่ผ่านมามาพิจารณาด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่นำข้อเสนอเก่ามาปรับปรุง เมื่อศึกษาแล้วไม่ได้ ก็ไม่ออกเป็นมาตรการ ดังนั้นเวลานี้รัฐบาลได้ดำเนินการไปถึง 18 มาตรการและไม่ได้มีปัญหาใดๆ ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่า น่าจะมีปัญหาไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ จึงต้องไปศึกษา
ประเด็นที่ว่าจะเป็นการเอื้อให้กับเอกชนบางรายหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ถ้าเอื้อเอกชน ตนเองก็ตัดสินใจไปแล้วว่าให้ทำได้ แต่ตอนนี้ยังเป็นการศึกษาว่าทำได้จริงหรือไม่ และเป็นธรรมหรือไม่ ดังนั้นจะมาพูดว่า เอื้อหรือไม่เอื้อไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ และการที่มีการเสนอมาตรการนี้มา ก็ถือว่าเป็นการฟังเสียงผู้ประกอบการ