ม.หอการค้าไทย คาดจีดีพีไทยปี 68 โตแตะ 3%  แนะรัฐอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง มาตรการแก้หนี้คาดผลต่อจีดีพี 0.51%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2568 ไว้ที่ 3% โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญจากการใช้จ่ายภาครัฐ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ คาดว่าการใช้จ่ายของภาครัฐ จะขยายตัวได้ 2.4% ส่วนการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.1% ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทย (ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ) จะขยายตัวได้ 2.5% ชะลอตัวลงจากปี 67 เนื่องจากผลของฐานที่สูงในปีนี้ ด้านการท่องเที่ยว ประเมินว่าจะมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแตะ 40 ล้านคน

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 1.2% อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วง 1.75-2.25% โดยมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้าลงได้อีก 1-2 ครั้ง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในช่วง 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาท/ดอลลาร์

“การที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3% ไม่ใช่ประเด็น เพราะสิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไร ให้คนเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสเติบโตได้ 4-5% ตามยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ ในขณะที่ IMF ยังมองว่าใน 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตอยู่ในระดับ 3%…หากไทยโตไม่ถึง 3% อาจจะโดนประเทศอื่นในอาเซียนแซงหน้า และเราอาจจะร่วงจากอันดับ 2 ของอาเซียน ลงมาอยู่อันดับ 5 อันดับ 6 ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างโดดเด่น” นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ

อย่างไรก็ดี ในปีหน้า ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และปริมาณการค้าโลกที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด, ภาระหนี้สินของครัวและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง, ความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคการเกษตร, ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ยังประเมินขนาดของผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละมาตรการ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 โดยรวมแล้ว 1.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นผลต่อจีดีพี ที่ 0.93% แยกเป็น มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 กลุ่ม ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว 3.56 หมื่นล้านบาท ส่งผลต่อจีดีพี 0.20%

ขณะที่มาตรการแก้ปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) นอกจากแก้ปัญหาหนี้แล้วยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยในตัว เนื่องจากลูกหนี้เอ็นพีแอล ที่ได้รับเงินช่วยเหลือ หรือเงินที่ได้ต้องชำระหนี้ ไปใช้จ่ายทั้งหมดโดยไม่มีการเก็บออม คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 9.17 หมื่นล้านบาท ส่งผลต่อจีดีพี 0.51% และมาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว 3.85 หมื่นล้านบาท คิดเป็นผลต่อ ส่งผลผลต่อจีดีพี 0.22%

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles