ยอดใช้น้ำมันในประเทศ 9 เดือนเพิ่มขึ้น 1.2% รับมาตรการตรึงราคาดีเซล ท่องเที่ยว เบนซินลดลง

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยในช่วง 9 เดือน (เดือนมกราคม – กันยายน) 2567 อยู่ที่ 155.37 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.2%

โดยดีเซลเพิ่มขึ้นขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาล น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น ตามภาคการท่องเที่ยว และการใช้ LPG เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มเบนซินลดลง ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะและการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า น้ำมันเตา และ NGV ลดลง

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.52 ล้านลิตร/วัน ลดลง 0.6% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและรถไฟฟ้าระหว่างเมืองที่มีการขยายตัวของผู้โดยสาร 13.5% รวมถึงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้ง BEV HEV และ PHEV ขยายตัวอย่างต่อเนื่องคิดเป็น 5.17% ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน อีกทั้งราคาขายปลีกที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายชนิด ปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลงมาอยู่ที่ 17.80 ล้านลิตร/วัน แต่ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดที่ 57.0% รองลงมาคือแก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.49 ล้านลิตร/วัน เป็นผลจากราคาขายปลีกของแก๊สโซฮอล์ 91 ที่ราคาต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.93 บาท/ลิตร (มกราคม-กันยายน 2566 เฉลี่ย 0.28 บาท/ลิตร) ประชาชนบางส่วนจึงหันไปใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แทน สำหรับแก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.44 ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.42 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.07 ล้านลิตร/วัน

การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 66.74 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 2.9% ประกอบด้วย ดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66.59 ล้านลิตร/วัน ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการเติบโตของภาคการขนส่ง ที่ได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์อัตราการขยายตัว GDP ของปี 2567 เฉลี่ย 2.3-2.8% สำหรับดีเซลหมุนเร็วบี20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.152 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่ดีเซลพื้นฐาน ลดลงมาอยู่ที่ 1.83 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากในปีก่อนนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ส่งผลให้ในภาพรวมจึงมีปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ 68.57 ล้านลิตร/วัน

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 15.50 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 17.3% โดยมีปัจจัยมาจากการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนโยบายการยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวในบางประเทศแล้ว ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังได้มีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ปริมาณการใช้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 18.74 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น 3.2% ประกอบด้วยภาคปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.68 ล้านกก./วัน

ภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.74 ล้านกก./วัน และภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.32 ล้านกก./วัน มาจากการใช้ในกลุ่มรถแท็กซี่ที่ยังคงขยายตัวอยู่เป็นสำคัญ ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรม ลดลงมาอยู่ที่ 1.996 ล้านกก./วัน

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.82 ล้านกก./วัน ลดลง 17.1% โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสม และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง ทั้งนี้ ปตท. ยังคงช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้กับ กลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 (1 กรกฎาคม 2567 – 31 ธันวาคม 2568)

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,046,487 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 0.3% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 97,155 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 982,828 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 1.6% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 92,646 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 63,659 บาร์เรล/วัน ลดลง 16.0% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 4,509 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 176,047 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 5.0% เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 17,509 ล้านบาท/เดือน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles