สภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) เปิดเผยรายงานแนวโน้มความต้องการทองคำประจำไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 โดยระบุว่า ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำเพื่อการลงทุนของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นถึง25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อยู่ที่จำนวน 7.4 ตัน และนับเป็นไตรมาสที่ 1 ที่แข็งแกร่งที่สุดของไทยนับตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ความต้องการทองคำภาคผู้บริโภคโดยรวมของไทยที่ประกอบด้วยปริมาณการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำกับความต้องการทองคำเครื่องประดับในไตรมาสที่ 1 นั้นรวมเป็นจำนวน 9.1 ตัน เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเป็นปริมาณความต้องการทองคำภาคผู้บริโภครายไตรมาสที่มีการเติบโตสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายเซาไก ฟาน หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลก ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยการคาดการณ์ทิศทางราคาทองคำในเชิงบวกได้เป็นแรงผลักดันการลงทุนในทองคำ ทำให้ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำของไทยเพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ว่าหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ความต้องการทองคำแท่งและเหรียฐทองคำจะลดลงก็ตาม เนื่องจากราคาทองคำที่สูงขึ้นได้กระตุ้นให้เกิดแรงขายทำกำไร ด้านความต้องการทองคำเครื่องประดับในไตรมาสแรกของไทยนั้นสอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาทองคำที่สูงเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตามตลาดทองคำของไทยยังคงมีความแข็งแกร่งและชะลอตัวลงในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบางประเทศในอาเซียนที่อยู่ในการศึกษาของเราครั้งนี้”
ด้านความต้องการทองคำโดยรวมทั่วโลกจากทุกภาคส่วน (ซึ่งรวมถึงการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์[1] หรือ Over-the-counter: OTC) รายไตรมาสนั้นอยู่ที่ 1,206 ตัน เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสภาวะที่ราคาทองคำสูงเป็นประวัติการณ์และทะลุระดับ 3,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์
ด้านความต้องการทองคำเครื่องประดับนั้นเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ โดยได้รับผลกระทบเชิงลบจากราคาทองคำที่พุ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ถึง 20 ครั้งในไตรมาสที่ 1 ทั้งนี้ประเทศไทยมีความต้องการทองคำเครื่องประดับปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.7 ตัน เนื่องจากราคาทองคำที่พุ่งขึ้นสูง ซึ่งนับเป็นการลดลงในระดับปานกลางที่ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลกได้ลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2563
อย่างไรก็ตาม ตลาดทองคำเครื่องประดับนั้นยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะหากพิจารณาในแง่ของมูลค่าแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันอย่างรุนแรงจากราคาทองคำที่สูงก็ตาม โดยในไตรมาสแรกพบว่าผู้บริโภคได้ซื้อทองคำเครื่องประดับทั่วโลกเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นจำนวน 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเกือบทุกตลาดมีมูลค่าความต้องการทองคำเครื่องประดับสูงขึ้นยกเว้นในประเทศจีน