ผลสำรวจจากรายงาน UOB Business Outlook Study 2024 พบว่าร้อยละ 94 ของธุรกิจไทยตระหนักว่าประเด็นความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจ โดยร้อยละ 22 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีแผนที่จะเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในอีก 3 ปีข้างหน้า และต้องการความช่วยเหลือจากธนาคารในด้านต่างๆ เช่น ต้องการเชื่อมต่อกับบริษัทที่อยู่ในระบบนิเวศอุตสาหกรรมเดียวกันเพื่อเรียนรู้แนวปฎิบัติตัวอย่าง ต้องการบริการด้านการลงทุนรวมถึงคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้าน ESG และต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
เพื่อตอบสนองต่อความต้องการธุรกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จึงร่วมกับ พีดับบลิวซี พัฒนา UOB Sustainability Compass ซึ่งเป็นเครื่องมือในรูปแบบของแบบประเมินออนไลน์ ที่จะช่วยวัดระดับและประเมินความพร้อมด้านความยั่งยืนของบริษัทว่าอยู่ในระยะใด บริษัทสามารถลงทะเบียนเพื่อทำแบบสอบถาม และรับรายงานที่รวบรวมแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน โดยรายงานมีการรวบรวมข้อมูลจำเพาะของกฎระเบียบ บรรทัดฐาน และมาตราฐานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทของแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับโซลูชันทางการเงินที่เหมาะสมให้แก่บริษัท
นางสาวอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Commercial Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ความยั่งยืนถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยสร้างความแตกต่างให้แก่บริษัทในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้บริษัทสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและเทรนด์การดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัทที่สามารถพัฒนาธุรกิจให้มีความยั่งยืนจะช่วยสร้างความแตกต่างและขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จในระยะยาว เราในฐานะธนาคารชั้นนำของภูมิภาคตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนลูกค้าให้สามารถพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างสะดวกขึ้น ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จาก UOB Sustainability Compass เพื่อรับทราบแผนงานที่ชัดเจนเพื่อข้ามอุปสรรค และความท้าทายในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน”
นางพณิตตรา เวชชาชีวะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Financial Institutions และ ESG Solutions ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะความยั่งยืนเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่บรรษัทขนาดใหญ่นำมาพิจารณาสำหรับคัดสรรองค์กรที่ต้องการทำธุรกิจร่วมกัน ธนาคารจึงได้ออกแบบกรอบแนวคิดที่เรียกว่า Sustainable Finance Framework เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนประเภทต่างๆ อาทิ สินเชื่อเพื่ออาคารสีเขียว (Green Building) สินเชื่อเพื่อเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Financing) ซึ่งสินเชื่อประเภทต่างๆ นี้ จะช่วยลดระยะเวลาและลดการใช้ทรัพยากรภายในองค์กรให้แก่ธุรกิจ ช่วยให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างทันท่วงที”
ปัจจุบันมีบริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรมได้ทดลองใช้เครื่องมือ UOB Sustainability Compass ประกอบด้วย บริษัท มโนห์รา อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตข้าวเกรียบรายใหญ่ของประเทศ และ บริษัท ยูนิคอุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด
นายอภิวัฒน์ วังวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท มโนห์รา อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด กล่าวว่า “การเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาคอุตสาหกรรมอาหารที่มีการแข่งขันสูง บริษัทของเรามีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก เราจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงปฎิบัติตามมาตราฐานระบบจัดการสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตของโรงงานอย่างเคร่งครัด หลังจากที่ได้ทดลองใช้ UOB Sustainability Compass เราได้รับรายงานที่รวบรวมกฎระเบียบสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท และเราสามารถใช้ข้อมูลจากรายงานฉบับนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการหาแนวทางการดำเนินธุรกิจที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนวาระ ESG ของเราไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง”
นายโสฬส ยอดมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิคอุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด กล่าวว่า “รายงานที่บริษัทได้รับจากการใช้ UOB Sustainability Compass ช่วยตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการพัฒนาธุรกิจของเราไปสู่ความยั่งยืน ข้อมูลที่เราได้รับจากรายงานฉบับนี้ทำให้เราสามารถระบุแนวทางที่บริษัทควรบฎิบัติเพื่อทำให้ธุรกิจให้มีความยั่งยืน เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การคัดสรรพันธมิตรทางธุรกิจ และการเลือกใช้ซัพพลายเออร์ที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากยิ่งขึ้น เราพร้อมที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับธนาคารยูโอบีเพื่อขอสนับสนุนสินเชื่อทางการเงินเพื่อความยั่งยืน ที่จะช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งภายในและภายนอกองค์กรของเรา”
ตั้งแต่ธนาคารยูโอบีเปิดตัว UOB Sustainability Compass เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย มีบริษัทกว่า 1,700 แห่งทั่วภูมิภาคได้ทดลองใช้เครื่องมือนี้เพื่อเป็นตัวช่วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียว ธนาคารมีแผนจะเปิดตัวเครื่องมือนี้ที่ประเทศอินโดนิเซียนเป็นลำดับต่อไปภายในปีนี้