ฉิวซื่อ ซึ่งเป็นนิตยสารสองเดือนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน และเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางแห่งประเทศจีนใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารนโยบาย วิธีคิด และการดำเนินแผนงานต่างๆของรัฐบาลกลาง ได้เผยแพร่และตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการเรียกร้องให้มีการปราบปรามการแข่งขันทำธุรกิจและตลาด ที่ใช้กลยุทธ์การลดราคาขายเป็นจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่สงครามราคา และการทำลายผลกำไรที่เกิดขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรมและธุรกิจในปัจจุบันที่อยู่ในประเทศจีน นอกเหนือจากประเด็นหลักสำคัญดังกล่าวแล้ว บทความชิ้นนี้ยังได้ระบุสาเหตุ และวิพากวิจารณ์อย่างรุนแรงเผ็ดร้อนทั้งรัฐบาลท้องถิ่นหรือมณฑล และบริษัทจากในภาคเอกชนที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดสงครามราคา
บทความดังกล่าว ระบุต่อไปว่าสถานการณ์การแข่งขันทำธุรกิจและตลาดที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันของจีนนั้น นำมาซึ่งการสูญเสียอย่างมากมายของทรัพยากรทางสังคม และภาระหนี้ที่มีการเติบโต ซึ่งส่งผลต่อความไม่ยั่งยืน อาจทำให้การเติบโตของประเทศจีนในระยะยาวตกอยู่ในภาวะอันตราย โดยเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เซลล์แสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ลิเธียม รถยนต์ไฟฟ้า และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
บริษัทในภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยกําลังใช้ทรัพยากรเพื่อขยายกําลังการผลิตสินค้า ในขณะที่กลับชะลอการชําระเงินให้กับซัพพลายเออร์ และผู้รับเหมา พฤติกรรมเช่นนี้เป็นการบีบรัดห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมด นอกจากนี้ เป้าหมายในการตัดลดต้นทุน พบว่า บริษัทกลับประนีประนอมกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ด้วยการลดแรงจูงใจในสร้างนวัตกรรม และการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา นี่คือการทําร้ายผลประโยชน์ของผู้บริโภค ไม่ต่างจากประโยคที่ว่า เงินสกปรกชั่วร้ายกวาดไล่เงินดีมีคุณภาพ
การแข่งขันที่ทำให้เกิดการเสื่อมถอย ซึ่งหมายถึงบริษัทจากเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่น ได้ลงทุนในแง่เงินทุนเป็นจำนวนมากมาย เพื่อหวังเพียงเป้าหมายเดียวในการได้ส่วนแบ่งตลาดภายใต้สิ่งแวดล้อม หรือสนามแข่งขันที่มีความต้องการอย่างจำกัดของผู้บริโภค ในขณะที่ต้องเผชิญกับความล้มเหลว เนื่องจากไม่สามารถสร้างการเติบโตของรายได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
บทความของนิตยสารดังกล่าวยังวิจารณ์อย่างรุนแรง ซึ่งหายากมากที่จะมีการกล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลท้องถิ่น หรือมณฑลอย่างเผ็ดร้อน โดยกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นทำตัวไม่แตกต่างจากการไม่มีตัวตน และทำการเกินขอบเขตที่กำหนดไว้ เจ้าหน้าที่ของราชการควรที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องให้มากยิ่งขึ้นเนื่องจาก กฎเกณฑ์ระเบียบข้อบังคับและกฎหมายต่างๆ ไม่สามารถติดตามได้ทันกับพัฒนาการ ของอุตสาหกรรมใหม่ และรูปแบบธุรกิจใหม่
นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งมุ่งเน้นแต่การเติบโตระยะสั้น ต้องการดึงดูดการลงทุนโดยการสร้างนโยบายเทียม เสนอสิทธิพิเศษ เช่น แพคเกจภาษีพิเศษ ค่าธรรมเนียม เงินอุดหนุน และการใช้ที่ดิน ตลอดจนมาตรการกีดกัน นอกจากนี้ กลไกการล้มละลายของธุรกิจหรือองค์กรยังทำงานไม่สมบูรณ์ ซึ่งไม่สามารถป้องกันภาวะอุปทานที่มากเกินไป