นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงาน BetterTrade2024 “The Next Wealth Oppertunities” ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการผงกหัวขึ้น โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ คาดว่าจะเติบโต 2.7-2.9% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และมองปี 68 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่า 3%
“มองจีดีพีเราควรใกล้เคียง 3% แต่เจอสองปัจจัยหลักคือ น้ำท่วมที่เป็นผลกระทบทางตรงสร้างความเสียหายให้กับภาคเอกชน และที่อยู่อาศัย ส่วนอีกปัจจัยคือ การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในช่วงไตรมาสสาม แม้จะเป็นพรรคเดียวกันความต่อเนื่องนโยบายไม่มีปัญหา แต่ในมิติของการทำงานช่วงรักษาการทำให้ไม่สามารถลงนามได้ ช่วงเวลานี้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสสามออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย”นายเผ่าภูมิ กล่าว
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/67 รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นผ่านโครงการ 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบางส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/67 ขยายตัวได้สูงกว่า 4% หรืออยู่ในช่วง 4-4.5% และ ส่งผลให้ทั้งปีจีดีพีเติบโต 2.7- 2.9% ได้ ส่วนมาตรการที่จะออกช่วงปลายปี อยู่ระหว่างการพิจารณาและชั่งน้ำหนัก ความเหมาะสม เพราะขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวดี หรือ พีคแล้ว และมีการจับจ่ายใช้สอยสูง ดังนั้นจะดีหรือไม่หากออกมาตรการในช่วงไตรมาส 1/68 หรือ ในช่วงการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว “ข้อเสนอมาตรการ คูณสองก็รับพิจารณา แต่มาตรการพวกนี้เหมาะกับช่วงโลว์ซีซั่น อาจจะไม่ได้เห็นในช่วงไตรมาส 4/67”นายเผ่าภูมิ กล่าว
สำหรับในปี 68 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้สูงกว่า 3% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยอมรับว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อของไทยมีปัญหา เพราะต่ำกว่าเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังการหารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ข้อสรุปของเงินเฟ้อในระยะต่อไป คือ
- กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% โดยมีค่ากลางที่ระดับ 2%
- มีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อพยายามผลักดันให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมาย หรือให้เข้าใกล้ 2% ซึ่งเป็นค่ากลางให้ได้
- มีมาตรการร่วมกัน ระหว่างกระทรวงการคลัง และธปท. เพื่อให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
”เสถียรภาพเงินเฟ้อตอนนี้เป็นปัญหา กรอบเงินเฟ้อของไทยที่ 1-3% โดยเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำล่าสุดที่ 0.4% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายดังนั้นกระทรวงการคลังได้ประสานกับ ธปท. เพื่อทำงานอย่างใกล้ชิด“นายเผ่าภูมิ กล่าว
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ส่วนเศรษฐกิจโลก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาติมหาอำนาจใช้มาตรการทางการเงินรุนแรง เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ โดยโจทย์ของประเทศไทย นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง จะต้องประสานกับโลกให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะอันตราย
“จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทิศทางนโยบายการเงินของโลกผ่อนคลายแต่ของไทยไม่สอดคล้องจะเกิดอันตราย ดังนั้นไทยจะต้องปรับตัว ปรับนโยบายให้สอดคล้องกับโลกให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลต่อการส่งออก ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ และกดดันภาพของเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงการคลังและธปท. ต้องทำร่วมกัน คือปรับนโยบายให้สอดคล้องกับโลก”นายเผ่าภูมิ กล่าว ทั้งนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการกระตุ้นตลาดกระบะ รถจักรยานยนต์ จะดำเนินการให้เหมาะสมอย่างไร ขณะที่หนี้ครัวเรือนเป็นสิ่งมี่น่ากังล เพราะยังอยู่ในระดับสูง โดย รัฐบาลเตรียมที่จะออกมาตรการเร็วๆ นี้
“ความจำเป็นในการกระตุ้นก็มี แต่ก็หากดูหนี้เสียของรถกระบะ และมอเตอร์ไซต์ก็เยอะ การกระตุ้นก่อให้เกิดหนี้เสียได้ แต่การไม่กระตุ้นก็อาจทำให้อุตสาหกรรมนี้ไม่ฟื้นตัว ขณะที่มาตรการหนี้ครัวเรือนที่จะออกมานั้น แม้จะไม่ได้ทำให้หนี้ลด แต่จะไปช่วยลดภาระดอกเบี้ย แต่ขอให้รอประกาศอย่างเป็นทางการ”นายเผ่าภูมิ กล่าว
ขณะที่ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมผ่านมา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the Future” ในงานมอบรางวัลสุดยอดซีอีโอ ประจำปี 2567 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวค่อนข้างต่ำมาเป็นระยะเวลานานมากกว่า 10 ปี เห็นได้จากตัวเลขอัตราหารขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ 1.9% ขณะที่ปี 2567 นี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% บวกลบ คิดว่ามันควรจะมากกว่านี้ แต่มีน้ำท่วมเข้ามาแทรก ส่วนปี 68 หากอยู่บนสิ่งที่เห็น การขยายตัวน่าจะได้ถึง 3% ซึ่งผมคิดว่า 3% มันเหมือนกับการอยู่ไปแบบไม่ได้มองว่าไทยมีศักยภาพอะไรบ้าง มีโอกาสอะไรบ้าง เราก็ยอมรับได้