นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ามีแนวทางที่จะขยายอายุเกษียณการทำงาน 55 ปีในบริษัทเอกชน อาจจะขยายไปถึง 65 ปี และส่วนราชการ ขยายไปถึง 65 ปีเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันคนดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น และความเจริญทางการแพทย์ เหมือนเช่นสิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ โดยจะดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ. ประกันสังคม รวมถึงเพิ่มผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานต่างชาติ อาทิ เมียนมา ลาว กัมพูชา จำนวน 2 ล้านคน จากปัจจจุบันมีแรงงานต่างด้าวเข้าระบบประกันสังคมเพียง 1.5 ล้านคน โดยที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นแรงงานเถื่อนจำนวนมาก ดังนั้น ได้ให้กรมการจัดหางานทำงานเชิงรุก เข้าไปตรวจสอบ โดยอาจเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียน หากยังไม่มาลงทะเบียนอีกจะส่งกลับประเทศต้นทาง
อีกทั้งยังมีผู้ที่มีอาชีพอิสระที่ยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม ผู้ประกอบอาชีพอิสระ คนขับรถแท็กซี่ ไรเดอร์ รวมถึงกลุ่มที่กฎหมายปัจจุบันได้รับการยกเว้น ได้แก่ ลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้และเลี้ยงสัตว์, ลูกจ้างทำงานบ้าน และลูกจ้างผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ก็จะให้เข้ามาระบบประกันสังคม ม.40
นอกจากนี้ จะเสนอให้ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละ 2% รัฐบาล 2.5% รวม 3 ฝ่าย 6.25% ซึ่งจะดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม โดยจะมีการเสนอไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและส่งเรื่องไปที่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป
รวมถึงจะปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างอย่างต่อเนื่องตามค่าเงินเพื่อสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอของผู้ประกันตน โดยจะมีการดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงในประเด็นนี้
นอกจากนี้ยังได้มีการหารือผู้เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคม ที่มีแนวคิดให้จัดการค่าใช้จ่ายผันแปร (Floating Cost) ที่เป็นค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล แต่หากเราทำเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) โดยให้บริษัทประกันภัยเข้ามาดูแลแทน โดยกองทุนเข้าไปซื้อประกันแล้วให้บริษัทประกันมาดูแลรับผิดชอบ ก็จะทำให้กองทุนประกันสังคมจะมีค่าใช้จ่ายต่ำลง และช่วยให้การวางแผนบริหารกองทุนทำได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันยอมรับว่า ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุด ซึ่งมีประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี
สำหรับการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนได้ให้เป้าหมายไม่ต่ำกว่า 5% ในปี 68 จากปี 66 ที่มีผลตอบแทนอยู่ในระดับ 2.3-2.4% หากทำได้จะยืดอายุเงินกองทุนประกันสังคมไปอีก 3-4 ปี โดยอดีตอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับสูง แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเริ่มลดลงแล้ว ซึ่งหลังจากได้คณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่เมื่อปลายปี 66 มีแนวคิดให้กองทุนประกันสังคมลงทุนในต่างประเทศ ขณะนี้ก็ได้เริ่มลงทุนในสหรัฐและยุโรป ให้ผลตอบแทนราว 6-7% เพื่อมาเฉลี่ยกับสินทรัพย์ลงทุนในไทย ดึงให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงขึ้น และมีโอกาสขยายลงทุนสินทรัพย์ได้ไม่ต่ำกว่าระดับ BBB ที่จะให้ผลตอบแทนสูงขึ้นได้ด้วย โดยในปัจจุบันกองทุนมีผลตอบแทนสูงขึ้นมาที่ 2.7%
ทั้งนี้ ในปีหน้ากองทุนจะปรับสัดส่วนการลงทุนในไทยมาเป็นการลงทุนความเสี่ยงต่ำราว 65% ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล เงินฝาก เป็นต้น และอีก 35% ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ หุ้นในประเทศ ลงทุนผ่านกองทุนหุ้นในต่างประเทศ และลงทุนอสังหาริมทรัพย์ จากเดิมลงทุน 70/30 เพราะปัจจุบันตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนต่ำมาก และเป็นตลาดที่อ่อนไหวมาก
“เราจะไม่พยายามไปลงทุนเอง(หุ้นในต่างประเทศ) แต่เราจะลงทุนผ่านกองทุน เพราะเราคงไม่มีปัญญาไปวิเคราะห์ในหุ้นแต่ละตัวแต่ละประเทศซึ่งเราวิเคราะห์ไม่ไหว ซึ่งวันนี้เราเห็นแล้วว่าเราลงทุนในประเทศไทย 70% ผลตอบแทนมันต่ำ แต่ตอนนี้เราสามารถดึงผลตอบแทนขึ้นมาได้ 2.7% เพราะวันนี้เราลงทุนต่างประเทศได้กำไรค่อนข้างดี โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปีนี้มีผลตอบแทนถึง 10%”
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากนี้ไป เมื่อเงินฝากหรือพันธบัตรรัฐบาลที่ถืออยู่ครบกำหนดก็จะผลักเม็ดเงินออกไปลงทุนตลาดหุ้นในต่างประเทศผ่านกองทุนรวม เพื่อให้ผลตอบแทนสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนของกองทุนประกันสังคม ก็จะต้องผ่านขั้นตอนจนถึงบอร์ดประกันสังคมที่จะอนุมัติการลงทุนที่เห็นสมควร