ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากข่าวการเข้ามาลงทุนสร้าง Data Center ของบริษัทชั้นนำ มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในประเทศไทย เป็นผลจากแนวโน้มการขยายตัวของ Data Center ในภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพด้านปริมาณการใช้งาน แต่เริ่มมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ และแหล่งพลังงาน โดยเฉพาะในประเทศสิงคโปร์
โดยผลทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทย เฉพาะโครงการนี้คาดว่าจะช่วยสร้างงานกว่า 14,000 ตำแหน่ง ในช่วงปี 2568 – 2572 และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 140,000 ล้านบาท ภายในปี 2572
สำหรับประเด็นด้านความยั่งยืน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเติบโตของ Data Center ในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการดำเนินการด้านความยั่งยืนในประเทศไทย ใน 2 ประเด็น ได้แก่ (1) การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และ (2) การชดเชยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ด้วยคาร์บอนเครดิต
(1)การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และโครงสร้างพื้นฐาน Data Center เป็นหนึ่งในอาคารที่ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก (ประมาณ 1% – 3% ของพลังงานไฟฟ้าทั่วโลก) ทำให้การดำเนินการเพื่อลดการปล่อย GHG ของ Data Center มุ่งเป้าไปที่การลด Emission Intensity จากพลังงานไฟฟ้าส่งผลให้ต้องใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในพลังงานสะอาด เช่น แสงอาทิตย์ และลม เพิ่มเติมในประเทศที่ตั้งของ Data Center
(2)การชดเชยการปล่อย GHG ด้วยคาร์บอนเครดิต ด้วยบริษัท Data Center และ AI ชั้นนำของโลกร่วมกันประกาศการรับซื้อคาร์บอนเครดิตในโครงการประเภท Nature-Based เช่น ป่าไม้ จำนวน 20 ล้าน tCO2eq ภายในปี 2030 เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเป็น Net Zero ขององค์กรเพื่อชดเชย GHG ในส่วนที่เหลือจากการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดขององค์กรในข้อ (1)
ดังนั้น ประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ผลักดันให้เกิดการนำคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยไปใช้ชดเชยการปล่อย GHG ซึ่งยังคงมีปริมาณคาร์บอนเครดิตนำออกมาขายเพียง 3.5 ล้าน tCO2eq หรือ 17% ของปริมาณที่ได้รับรองทั้งหมด เท่านั้น เพื่อจะได้เป็นการช่วยพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตด้วยอีกทางหนึ่ง