ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจในปี 2568 ได้ถูกปรับลดอัตราการขยายตัว หรือจีดีพีลงครั้งที่ 2 จากเดิมที่คาดว่าจะสูงกว่า 3% ลงมาเหลือเพียง 2.6% อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่จะเผชิญกับภาวะถดถอย หรือ Hard Landing นั้น อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยลดลงแตะ 1.9% เมื่อพูดถึงโอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอย หรือ Hard landing ของประเทศไทย พบว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% แต่ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ได้แก่ เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ผลกระทบต่อภาคการส่งออก การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ และการเงินมีความตึงตัวสูง
ด้านปัจจัยบวกนั้น ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น โดยในปี 2568 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.4 ล้านคน การส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ยังเติบโตต่ำกว่าในอดีต ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ความน่ากังวลที่สุด คือ ภาวะหนี้ครัวเรือน และหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ เมื่อการใช้จ่ายลดลงจะส่งผลให้ภาคการผลิตปรับลดลง และอาจกระทบต่อการจ้างงานในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่ยังลดลงต่อเนื่อง
สำหรับโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น มองว่าถือเป็นโยบายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น อาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย และการบริโภคได้ในระยะสั้น โดยมีผลต่อตัวเลขจีดีพีราว 0.5–0.7% ในขณะเดียวกัน มีผลให้หนี้สาธารณะไทยอาจมีแนวโน้มชนเพดานในปี 2570
SCB EIC มองว่า ประเทศไทยต้องเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ประเทศไทยไม่ได้ผลิตสินค้าที่โลกต้องการ นอกจากนี้มี 2 กลุ่มสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ดังนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจสูญเสียกำลังการผลิตในประเทศไปราว 40% หากการปรับตัวของค่ายรถยนต์ไม่เท่าทันกับกระแสนิยมที่กำลังเปลี่ยนไป และความอยู่รอดของผู้ประกอบการ SME ที่ขาดความสามารถในการแข่งขัน และเจอความท้าทายทั้งกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง การตีตลาดจากสินค้านำเข้า กระบวนการผลิตและการตลาดล้าสมัย
ในขณะนี้ สถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่กระจายวงกว้างทางภาคเหนือของไทย พบว่า ในเบื้องต้นจะมีมูลค่าความเสียหายในภาคเกษตรราว 2,263 ล้านบาท หรือราว 0.01% ของจีดีพีไทย ด้านนโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2567 นั้น SCB EIC คาดว่า คณะกรรมการนโนยานการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ธ.ค. 2567 และต่อเนื่องช่วงต้นปีหน้าลงไปอยู่ที่ 2%
ทั้งนี้ มุมมองกับค่าเงินบาทในปีนี้ ในระยะสั้นเงินบาทอาจอ่อนค่าเล็กน้อยจากปัจจัยเศรษฐกิจของสหรัฐ ก่อนกลับสู่การแข็งค่าตามวงรอบของสหรัฐ โดยมองสิ้นปี 2567 ค่าเงินบาทอยู่ในกรอบ 34.00–34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2568 ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวที่ 33.00 – 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ