นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่ากรณีอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน 2.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ติดลบ ถือเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงมากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้ เพราะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่แผ่วลง โดยเมื่อดูส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยกับอัตราเงินเฟ้อ สูงกว่าก่อนที่จะเกิดสถานการณ์วิกฤติโควิด-19
ทั้งนี้หากดูข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ก่อนเกิดโควิด ดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ย 1.7% ขณะที่เงินเฟ้อ 0.6% จะเห็นว่า ดอกเบี้ยไม่สูงเท่าปัจจุบัน แต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจพอสมควร เห็นจากภาวะเศรษฐกิจไม่เติบโตตามศักยภาพ ซึ่งตอนนี้ดอกเบี้ยที่สูงนั้น กระทบต่อกำลังซื้อ และการลงทุนของเอกชน
อย่างไรก็ตาม เท่าที่เคยหารือ ธปท. ไม่ได้มองส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับต่างประเทศ ในการเป็นปัจจัยที่จะลดดอกเบี้ย ส่วนจะเกี่ยวข้องกับการที่คงดอกเบี้ยใว้ในระดับสูง เพื่อรองรับวิกฤติหรือไม่ ก็อยากจะถามกลับว่าจะต้องรอให้เกิดวิกฤติรุนแรงแบบที่เรือไททานิคชนภูเขาน้ำแข็งก่อนหรือไม่ ทั้งที่จริงๆ ทั้ง ธปท. กับรัฐบาล ประชาชนก็อยู่บนเรือลำเดียวกัน
โดยนายศุภวุฒิมองว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจน ส่วนจะตอบเรื่องวิกฤตนั้น มองว่าแต่ละคนได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ถามคนมีรายได้น้อย มีหนี้สินมาก คำตอบคือเกิดวิกฤต แต่ถ้าเอานิยามตามเศรษฐกิจทั่วไป ก็ยังไม่เกิดวิกฤต ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ต้องดูหลายปัจจัยแม้ว่าภาคการท่องเที่ยวมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ในช่วงครึ่งปีแรกต้องดูกำลังซื้อ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยว่าจะมีการใช้จ่ายมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจีน ที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะเข้ามาเที่ยวไทย การใช้จ่ายอาจไม่เต็มที เพราะว่าเศรษฐกิจจีนมีปัญหาภายใน นอกจากนั้นอัตราดอกเบี้ยที่สูง ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ไม่ได้ช่วยภาคการท่องเที่ยว เป็นอีกปัจจัยที่กระทบต่อการท่องเที่ยวในปีนี้ด้วยเช่นกัน
ส่วนเรื่องการสร้างความมั่นใจการลงทุนว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญการดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งหากทำให้มีนักลงทุนมาลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ หรือโครงการใหญ่ๆ จะสร้างเรื่องราวให้ประเทศไทย ช่วยให้มีเงินทุนไหลเข้า