สบน.เผย ยอดจองซื้อพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนครั้งแรกดอกเบี้ย 2.70% ต่อปี ทะลุ  5.5 หมื่นล้าน สูงกว่าเป้าหมาย 2.76 เท่า

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า การสำรวจความต้องการลงทุน (Book Build) ในพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม โดยนักลงทุนมีการเสนอวงเงินซื้อพันธบัตรรวมทั้งสิ้น 55,285 ล้านบาท คิดเป็น 2.76 เท่าของวงเงินการออก 20,000 ล้านบาท ที่ประกาศไว้และทำให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สามารถออก SLB ได้ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ย2.70% ต่อปี

โดยมีนักลงทุนหลากหลายกลุ่มเข้าร่วม อาทิ กลุ่มบริษัทประกันชีวิต กลุ่มกองทุน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มบริษัทจัดการสินทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งการออก SLB ในครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลประเทศแรกในเอเชีย และรัฐบาลที่สามของโลกที่ประสบความสำเร็จในการออก SLB ต่อจากรัฐบาลของประเทศชิลีและอุรุกวัย 

SLB ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน โดยผู้ออกพันธบัตรจะต้องปฏิบัติตามตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ (Key Performance Indicators: KPIs) และเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Targets: SPTs) ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

โดยในครั้งนี้ KPIs และ SPTs ประกอบด้วย:

ทั้งนี้ กรอบการระดมทุนของ SLB รุ่นแรกของรัฐบาลไทย ได้รับการรับรองจากบริษัท DNV (Thailand) ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบอิสระภายนอกที่ยืนยันว่า KPIs และ SPTs ทั้งสองข้อมีความท้าทาย สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และเป็นไปตามมาตรฐานการออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนของสมาคมตลาดเงินทุนนานาชาติ (The International Capital Market Association: ICMA) และตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Market Forum : ACMF)

โดยในลำดับถัดไป สบน. จะดำเนินการรายงานผลการดำเนินงานและตรวจสอบความคืบหน้าของ SPTs อย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในกระบวนการดำเนินงานและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน รวมถึงจะดำเนินการออก SLB ให้เป็น Benchmark Bond รุ่นอายุ 15 ปี เพื่อเป็นพื้นฐานในการกำหนดราคาและเพิ่มสภาพคล่องของพันธบัตรในตลาดรอง อันจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

ในการนี้ สบน. ขอขอบคุณนักลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จครั้งนี้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมสรรพสามิต และกรมการขนส่งทางบก และองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค อันได้แก่ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) สถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวโลก (Global Green Growth Institute: GGGI) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) รวมถึงผู้ร่วมจัดจำหน่ายพันธบัตร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (จำกัด) มหาชน ธนาคารกรุงไทย (จำกัด) มหาชน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จำกัด) มหาชน และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ไทย (จำกัด) มหาชน ที่เข้ามาร่วมกันกำหนดและออกแบบ KPIs และเงื่อนไขรูปแบบ SPTs ของ SLB ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการรับมือกับปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และผลักดันให้การออก SLB ของประเทศไทยในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

สบน. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการออก SLB จะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับภาครัฐและภาคเอกชน ในการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้นานาประเทศถึงความมุ่งมั่นของไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้ สบน. จะดำเนินการทางด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาลไทย โดยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2567 นี้ สบน. มีแผนที่จะดำเนินการออก Sustainability Loan เพื่อระดมทุนในการสนับสนุนโครงการขนส่งพลังงานสะอาด และจะดำเนินหน้าที่ในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนของไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นไป

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles