นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยภาวะสังคมไทยในไตรมาส 2/67 หนี้สินครัวเรือน (ไตรมาส 1) มีมูลค่า 16.37 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.5% ชะลอลงจาก 3% ในไตรมาสก่อน (ไตรมาส 4/66) และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่ 90.8% ลดลงจาก 91.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ส่วนหนึ่งเกิดจากครัวเรือนมีภาระหนี้ในระดับสูง และคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลง จึงทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อแก่ครัวเรือน
ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.63 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.99% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.88% ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน
โดย NPLs ที่สูงขึ้นกว่าช่วงโควิดนั้น เนื่องจากตอนนี้มีปัญหาเรื่องรายได้กระจายไม่ทั่วถึง ซึ่งต้องมีมาตรการใช้สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ร่วมกับการปรับโครงสร้างหนี้ การแก้ปัญหา ถ้าแก้แล้วเกิด moral hazard ก็ไม่ควรทำ ควรมีมาตรการช่วยสร้างรายได้ อาจเป็นการลงทุนของรัฐที่จะช่วยสร้างการจ้างงาน สร้างรายได้บุคคล ขณะเดียวกัน ต้องอาศัยความร่วมมือของธนาคารต่าง ๆ และ non-bank ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะต้องพยายามดึงส่วนของ non-bank มาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ผู้กู้มีกำลังการใช้จ่าย ซึ่งเรื่องนี้กำลังพูดคุยว่าจะทำลักษณะใด จะต้อง haircut หรือไม่ หรือถ้าต้อง haircut อาจต้องทำบางกลุ่มที่พุ่งเป้าจริงๆ อย่างไรก็ดี การ haircut ก็มีผลทำให้เกิด moral hazard ระดับหนึ่งเช่นกัน ต้องชั่งน้ำหนักในการแก้หนี้
ขณะเดียวกัน สภาพัฒน์มองว่าจะต้องมีการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้บัตรเครดิตที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้คืน หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับอัตราการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนม.ค. 67 ส่งผลให้ลูกหนี้บางส่วน ไม่สามารถปรับตัวและมีปัญหาในการชำระคืน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงไว้ที่ 8% ซึ่งจริง ๆ แล้วควรต้องอยู่ที่ 10% แล้ว ต้องดูว่ามาตรการจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนหนึ่งมีผลแน่นอนกับคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต ผ่อนชำระ ส่วนหนึ่งก็เป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้ดีขึ้นด้วย ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระลง ส่วนควรทบทวนตัวเลขหรือไม่นั้น มีหลากหลายความเห็นจากหลายฝ่าย ต้องมาพูดคุยกัน
อีกทั้งรูปแบบการให้กู้ยืมนอกระบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะที่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ประกอบกับเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่าย อาจนำไปสู่พฤติกรรมการก่อหนี้เกินตัวได้ง่าย อีกทั้งมีความเสี่ยงการมีหนี้สินพ้นตัวจากอัตราดอกเบี้ยนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่
ส่วนประเด็นที่มีการเสนอให้ธนาคารพาณิชย์ ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลงครึ่งหนึ่งนั้น นายดนุชา กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องพูดคุยกับกระทรวงการคลัง และ ธปท. ว่ามาตรการนี้จะมีผลอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดี ถ้าลดเงินนำส่งครึ่งหนึ่ง ก็จะต้องใช้เวลาในการชดใช้หนี้ FIDF ยืดออกไประยะหนึ่ง และอยู่ที่ว่าจะนำเงินที่ได้จากส่วนที่ต้องชำระให้ FIDF ลดลงนี้ไปใช้ช่วยแก้หนี้ครัวเรือนในด้านใด ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียให้ดี ทั้งนี้ ถือเป็นประเด็นที่เคยพูดคุย และเป็นแนวคิดหนึ่งที่เป็นทางเลือกอยู่ ต้องไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม