สมาคมผู้ค้าปลีกไทยหั่นเป้าเศรษฐกิจไทยจากสูงสุด 3% ดิ่งเหลือโตต่ำสุดแค่ 1% กำลังซื้อคนชั้นกลางหดวูบฉุดวงการค้าปลีกดิ่งเหวกว่า 42% สินค้าจีนทะลักทั้งตรงและอ้อม เสียดุลการค้าจีนทะลักกว่า 2 ล้านล้านบาท จี้รัฐปั้นไทยเป็นสวรรค์ช้อปปิ้ง

สมาคมผู้ ค้าปลีก ไทยหั่นเป้า เศรษฐกิจ ไทยจากสูงสุด 3% ดิ่งเหลือโตต่ำสุดแค่ 1% กำลังซื้อคนชั้นกลางหดวูบฉุดวงการค้าปลีกดิ่งเหวกว่า 42% สินค้าจีนทะลักทั้งตรงและอ้อม เสียดุลการค้าจีนทะลักกว่า 2 ล้านล้านบาท จี้รัฐปั้นไทยเป็นสวรรค์ช้อปปิ้ง

ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย นายณัฐ วงศ์พานิช กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญกับหลายวิกฤตและปัญหา ได้แก่ วิกฤติการค้าโลก การขึ้นภาษีศุลากรของสหรัฐ เหตุการณ์แผ่นดินไหว และภาวะหนี้ครัวเรือน ทำให้คาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2568 นี้ ลดลงเหลือ 1-1.4% จากเดิมคาดการณ์จะเติบโตอยู่ในกรอบ 2.7-3% ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกไทย เบื้องต้นประเมินว่า ยอดขายภาคค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ที่สำคัญคือ กำลังซื้อหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จากรายได้ของชนชั้นกลางที่ลดลง และความไม่มั่นใจของผู้บริโภค ที่ส่วนหนึ่งส่งผลกระทบด้านยอดขายที่ลดลงเฉลี่ยเหลือเพียง 3.4% ในช่วงปี 2567-2568 ทั้งที่ผ่านมาในปี 2565-2566 เติบโตถึง 5.9%

ปี 2568 เป็นปีที่ท้าทายยิ่งกว่า ภายใต้การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของผู้ค้าปลีกไทย จากสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาแข่งขันอย่างรุนแรง ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยที่ผ่านมาอ้างอิงจาก หอการค้าไทย-จีน พบว่าปี 2562- สิงหาคม 2567 ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าจากจีน ประกอบด้วย ปี 2562 มูลค่านำเข้า 50,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.68 ล้านล้านบาท)

ปี 2563 มูลค่านำเข้า 49,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.66 ล้านล้านบาท) ต่อมาในปี 2564 มูลค่านำเข้า 66,553 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.22 ล้านล้านบาท) มาถึงปี 2565 มูลค่านำเข้า 70,766 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.36ล้านล้านบาท)

ปี 2566 มูลค่านำเข้า 70,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.36 ล้านล้านบาท) ในขณะที่ มกราคม-สิงหาคม 2567 มูลค่านำเข้า 55,036 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.83 ล้านล้านบาท) และไม่รวมโครงการที่นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยที่มีมากถึง 430 โครงการในปี 2566

ภายใต้ความท้าทายของการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนในไทย แนะนำว่าผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถแข่งขันกับสินค้าจีนผ่าน Value Add ต่างๆ ที่เพิ่มเข้าไปในสินค้า แทนการแข่งขันด้านราคาได้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมธุรกิจในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยจะต้องกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ด้วยการส่งเสริมให้ไทยเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง หรือ Shopping Paradise ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ผ่าน 2 มาตรการสำคัญ ได้แก่

1. นโยบาย Instant Tax Refund คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ทันที ณ ร้านค้า ให้กับนักท่องเที่ยวที่มี ยอดซื้อสินค้าขั้นต่ำ 3,000 บาทขึ้นไปต่อ 1 วันในร้านค้าเดียวกัน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับประเทศจีนที่ได้ประกาศใช้นโยบาย Instant Tax Refund 500 หยวน (ประมาณ 2,500 บาท) นำร่องที่เมืองท่องเที่ยวอย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางโจวง

2. แซนด์บ็อกซ์เขตปลอดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์ (Free Tax Zone) ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันท่ามกลางสงครามการค้าโลก

นอกเหนือจากความท้าทายของการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากภาษีทรัมป์ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยยังมองว่ากำแพงภาษีใหม่ที่ทรัมป์เรียกเก็บจากประเทศต่างๆ รวมถึงไทยที่ประสบกับกำแพงภาษีมากถึง 37% ถึงแม้จะมีมาตรการเลื่อนเก็บภาษีออกไป 90 วัน เพื่อรอการเจรจาจากผู้นำประเทศ

และถ้าการเจราไม่เป็นผลจะทำให้การส่งออกไปยังสหรัฐถึง 8.8 แสนล้านบาทได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ บนต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าแรง ต้นทุนโลจิสติกส์ ค่าพลังงานและสาธารณูปโภค

อย่างไรก็ดี สมาคมผู้ค้าปลีกมองเทรนด์ของปีนี้ประกอบด้วย

1. Convergence Commerce as the New Standard จากแนวทางการเชื่อมต่อประสบการณ์ของผู้บริโภคระหว่าง Offline และ Online ตลอดจนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงร้านค้าใหญ่และย่อยให้เป็น Ecosystem เดียวกัน และเมื่อเกิดการสั่งซื้อสินค้าแพลตฟอร์มข้อมูลไปยังผู้ผลิตโดยตรง

2. AI Personalization Engine จาก Big Data และ AI ช่วยส่งเสริมให้สินค้าและบริการถูกนำเสนอถึงผู้บริโภคเฉพาะโดยที่ไม่รู้ตัวในโลกออนไลน์ ผ่าน Feed ต่างๆ ที่ AI วิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคในขณะนั้นจาก Algorithm ที่เก็บมาอย่างต่อเนื่อง

3. Sustainable Retail กลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การจับตามอง โดยเฉพาะยุโรปให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ส่วนในประเทศไทย ผู้บริโภคยุคใหม่โดยเฉพาะ Gen Z ให้ความสนใจแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles