นายศุภชัย วงศ์เวคิน ประธานสหภาพแรงงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบเพื่อหารือกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กรณีที่รัฐบาลต้องการใช้สภาพคล่อง ธ.ก.ส. 1.72 แสนล้านบาท สำหรับรองรับโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ว่า วันนี้ได้มาพูดคุยกับนายจุลพันธ์ เนื่องจากสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. มีความเป็นห่วงใน 5 ประเด็น คือ 1. ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ 2. มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองรับหรือไม่ 3. สภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส. มีเพียงพอหรือไม่ 4. แผนการชำระคืนให้ ธ.ก.ส. เป็นอย่างไร และ 5. ผลตอบแทนที่ ธ.ก.ส.จะได้รับเป็นอย่างไรเพราะเงินในส่วนนี้ธนาคารมีต้นทุนที่ต้องบริหารจัดการอยู่ด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของความกังวลว่าการดำเนินการดังกล่าว จะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้น ก่อนหน้านี้ สหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. ได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง รมช.คลัง ก็ได้ให้ความมั่นใจว่าก่อนจะดำเนินการทุกอย่าง จะต้องทำให้ถูกกฎหมาย ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุว่า เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย รัฐบาลพร้อมที่จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ
“ในเรื่องของข้อกฎหมาย หากไม่ผ่านทุกอย่าง ก็จบอยู่แล้ว ซึ่งวันนี้นายจุลพันธ์ยืนยันในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 28 ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และเพื่อความสบายใจของทุกภาคส่วน นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะนำเรื่องนี้เข้ากฤษฎีกาเพื่อให้มีการตีความ ก็อยากให้รอความชัดเจนในส่วนนั้นก่อน” นายศุภชัย ประธานสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส.กล่าว
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ตามข้อเท็จจริงไม่อยากให้พูดว่ารัฐบาลยืมเงิน ธ.ก.ส. เพราะแท้จริงแล้ว เป็นการใช้มาตรา 28 ซึ่งเป็นวิธีการงบประมาณ ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ ธ.ก.ส. เคยดำเนินการมาก่อน อาทิ โครงการไร่ละพัน เพราะตามหลัก รัฐบาลกู้เงิน ธ.ก.ส.ไม่ได้อยู่แล้ว จึงอยากให้ทำความเข้าใจในส่วนนี้ก่อน และที่ผ่านมา รัฐบาลก็ไม่ได้บอกว่าจะกู้เงิน ธ.ก.ส. แต่เป็นการใช้วิธีการงบประมาณตามมาตรา 28 ส่วนท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลจะสามารถดำเนินการตามวิธีการงบประมาณดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ก็คงต้องรอความชัดเจนจากกฤษฎีกาอีกที
ส่วนเรื่องมติ ครม. นั้น ก็ต้องมีรองรับ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย เพื่อเป็นการยืนยันและปกป้อง ธ.ก.ส. ว่าสามารถดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวของรัฐบาลได้ ไม่ผิด
สำหรับประเด็นกังวลเรื่องสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. นั้น ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ สภาพคล่องตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีอยู่ราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งแข็งแกร่งและมีเพียงพอ และอีกส่วน คือ สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคาร ที่จะต้องดูอีกที และเป็นเรื่องที่ ธ.ก.ส. เองจะต้องชี้แจง สหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. คงไม่สามารถให้รายละเอียดได้
ขณะที่ความกังวลเรื่องแผนการชำระคืนนั้น อยากเห็นภาพที่ชัดเจนว่ารัฐบาลมีแผนการชำระคืน ธ.ก.ส.อย่างไร จะจ่ายคืนภายใน 3 ปี 5 ปี, 7 ปี หรือ 10 ปี อยากได้ความชัดเจนในส่วนนี้ โดยปัจจุบัน ธ.ก.ส. มียอดหนี้คงค้างตามมาตรา 28 อยู่ที่ราว 6.29 แสนล้านบาท ซึ่งทุกปี ธ.ก.ส. จะได้รับชำระคืนที่ราว 10-12% ของยอดหนี้คงค้าง หรือประมาณ 6-9 หมื่นล้านบาท
เมื่อถามถึงโอกาสจะชำระคืนหนี้หมดหรือไม่นั้น นายศุภชัย กล่าวว่า ไม่แน่ใจ เพราะก็มีโครงการที่รัฐบาลมีการดำเนินการออกมาต่อเนื่อง แต่ ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ก็ต้องซัพพอร์ตโครงการของรัฐอยู่แล้ว ส่วนเรื่องผลตอบแทนนั้น ยังไม่ได้มีการพูดคุยอย่างชัดเจน เบื้องต้นอยากให้มีความชัดเจนเรื่องของกฎหมายก่อน
“ทางสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส.เป็นห่วง ใน 3 เรื่องหลักๆ คือ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่, มีมติ ครม. รองรับหรือไม่ และสภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส. มีเพียงพอหรือไม่ แต่ที่ห่วงมากที่สุด เป็นเรื่องความถูกต้องตามข้อกฎหมาย ซึ่ง รมช.คลัง ยืนยันชัดเจนที่จะนำเรื่องนี้ส่งให้กฤษฎีกาตีความ ก็สร้างความมั่นใจและสบายใจให้อย่างมาก เพราะถ้าเข้าไปแล้วได้รับการยืนยันว่าถูกต้อง ก็ว่ากันไป ก็ต้องมาดูต่อว่ามีมติ ครม.ไหม มีสภาพคล่องไหม ทุกส่วนสำคัญหมด” นายศุภชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี ในส่วนของความเชื่อมั่นจากลูกค้าของ ธ.ก.ส. จากที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าจะแห่ออกมาถอนเงินฝากนั้น นายศุภชัย กล่าวว่า เท่าที่เช็คสถานการณ์ล่าสุด ภาพรวมขณะนี้ยังไม่มีการแห่ถอนเงินฝากออกแต่อย่างใด โดยยอมรับว่ามีความกังวลมากที่สุดคือวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งเป็นวันทำงานวันแรกหลังจากหยุดเทศกาลสงกรานต์ แต่ทุกอย่างก็เป็นปกติ