นิตยสารฟอร์บส์(Forbes) ซึ่งเป็นสื่อด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การเงิน การลงทุนชื่อดังระดับโลกในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานการจัดอันดับ 60 เมืองที่มีที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในโลกที่มีต่อชีวิตนักท่องเที่ยวประจำปี 2024 พบว่ากรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ได้คะแนน 53.34 คะแนน ซึ่งอยู่อันดับที่ 30 ของโลก เมื่อพิจารณาคะแนนในแต่ละกฎเกณฑ์ในการจัดอันดับทั้ง 7 ด้านความเสี่ยง ซึ่งมีคะแนนระหว่าง 1-60 คะแนน หากเมืองใดได้คะแนนน้อยในแต่ละกฎเกณฑ์นั้น จะหมายถึงมีความเสี่ยงมาก โดยพบว่า กรุงเทพมหานครมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยส่วนบุคคลได้แค่เพียง 5 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่น้อยที่สุดในทั้ง 4 กฎเกณฑ์ สะท้อนถึงมีความเสี่ยงด้านนี้มากที่สุด หรือย่ำแย่ที่สุด ตามด้วยความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยดิจิทัลได้ 17 คะแนน ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐานได้ 22 คะแนน ขณะที่ความเสี่ยงด้านอาชญากรรมได้ 39 คะแนน และความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสาธารณสุขได้ 39 คะแนน
สำหรับในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น รายงานดังกล่าวมีการจัดอันดับเพียง 7 เมืองในอาเซียน (คะแนนมากสุด หมายถึงแย่สุด) พบว่า กรุงเทพมหานครอยู่ในอันดับสุดท้ายของ 7 เมืองในอาเซียน โดยอันดับ 1 เมืองย่างกุ้ง เมียนมา ได้ 91.67 คะแนน อันดับ 2 กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ได้ 91.49 คะแนน อันดับ 3 กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ได้ 81.98 คะแนน อันดับ 4 เมืองโฮจิมินห์ ซิตี้ เวียดนาม ได้ 61.83 คะแนน อันดับ 5 กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ได้ 55.36 คะแนน อันดับ 6 กรุงเทพมหานคร ไทย ได้ 53.44 คะแนน และอันดับ 7 สิงคโปร์ ได้ 0 คะแนน
ที่น่าสนใจ คือ สิงคโปร์ เป็นเมืองและประเทศที่มีความเสี่ยงต่อนักท่องเที่ยวน้อยที่สุด หรือในอีกด้านหนึ่งมีความปลอดภัยมากที่สุดใน 60 เมืองทั่วโลก เนื่องจากคะแนนในพวกรวมเท่ากับศูนย์ ซึ่งเป็นผลจากคะแนนใน 5 กฎเกณฑ์สำคัญนั้นล้วนมีคะแนนเฉียดเต็ม 60 คะแนน (คะแนนมาก คือมีความเสี่ยงต่ำมาก) ได้แก่ ความเสี่ยงด้านสาธารณสุข ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐาน และความเสี่ยงด้านดิจิทัล ขณะที่ สิงคโปร์ได้ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติธรรมชาติต่ำที่สุด ความเสี่ยงอาชญากรรมได้ 55 คะแนน และ ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยส่วนตัวได้ 48 คะแนน ซึ่งเป็นด้านเดียวที่ได้คะแนนไม่ดีที่สุด
สำหรับเมืองสำคัญ หรือเมืองหลวงสำคัญอื่นๆใน 60 เมือง ที่มีความเสี่ยงสำหรับนักท่องเที่ยวมากกว่ากรุงเทพมหานครของไทย ได้แก่ กรุงนิว เดลี อินเดีย อยู่อันดับ 12 อันดับ 14 เมืองมุมไบ อินเดีย อันดับ 19 กรุงมอสโก รัสเซีย อันดับ 25 กรุงปักกิ่ง จีน อันดับ 26 เมืองมิลาน อิตาลี อันดับ 27 เมืองเซี่ยงไฮ้ จีน อันดับ 28 กรุงโรม อิตาลี
ขณะที่ เมืองที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด 10 เมืองแรกในโลกจาก 60 เมืองทั่วโลก ได้แก่ อันดับ 1 กรุงการากัส เวเนซุเอลา ได้ 100 คะแนน อันดับ 2 เมืองการาจี ปากีสถาน ได้ 93.12 คะแนน อันดับ 3 เมืองย่างกุ้ง เมียนมา ได้ 91.67 คะแนน อันดับ 4 กรุงลากอส ไนจีเรีย ได้ 91.54 คะแนน อันดับ 5 กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ได้ 91.49 คะแนน อันดับ 6 กรุงธากา บังคลาเทศ ได้ 89.50 คะแนน อันดับ 7 กรุงโบโกตา โคลอมเบีย ได้ 86.70 คะแนน อันดับ 8 กรุงไคโร อียิปต์ ได้ 83.44 คะแนน อันดับ 9 กรุงเม็กซิโก ซิตี้ เม็กซิโก ได้ 82.43 คะแนน และอันดับ 10 เมืองกิโต เอกวาดอร์ ได้ 82.02 คะแนน
สำหรับเมืองที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด หรือมีความปลอดภัยสูงที่สุด 10 เมืองแรกในโลกจาก 60 เมืองทั่วโลก (คะแนนน้อยสุด คือ ความเสี่ยงต่ำสุด) ได้แก่ อันดับ 1 สิงคโปร์ ได้ 0 คะแนน อันดับ 2 กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ได้ 10.72 คะแนน อันดับ 3 เมืองโตรอนโต แคนาดา ได้ 13.60 คะแนน อันดับ 4 เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย ได้ 22.24 คะแนน อันดับ 5 เมืองซูริค สวิสเซอร์แลนด์ ได้ 22.97 คะแนน อันดับ 6 กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ได้ 23.65 คะแนน อันดับ 7 กรุงโซล เกาหลีใต้ ได้ 25.00 คะแนน อันดับ 8 เมืองโอซากา ญี่ปุ่น ได้ 25.22 คะแนน อันดับ 9 เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ได้ 26.17 คะแนน และอันดับ 10 กรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ได้ 29.07 คะแนน
ทั้งนี้ กฎเกณฑ์ทั้ง 7 ด้าน จะมีการเฉลี่ยน้ำหนักแตกต่างกัน ได้แก่ ความปลอดภัยการท่องเที่ยวให้น้ำหนัก 20% ความเสี่ยงอาชญากรรมให้น้ำหนัก 17% ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยส่วนตัวให้น้ำหนัก 17% ความเสี่ยงด้านสาธารณสุขให้น้ำหนัก 17% ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐานให้น้ำหนัก 17% ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติธรรมชาติให้น้ำหนัก 10% และความเสี่ยงด้านดิจิทัลให้น้ำหนัก 9%