นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ไปดำเนินการจัดการและแก้ไขปัญหารถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด เนื่องจากส่งผลกระทบหลายด้านในการคมนาคมทางถนน เช่น ทำให้ถนนหลวงชำรุดเสียหาย และยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ
ในส่วนของ ทล. นั้น มอบหมายให้เร่งบริหารจัดการตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินบนโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศอย่างเข้มงวด โดยใช้เทคโนโลยีระบบตรวจวัดสามมิติ (3D Measurement System) ร่วมกับด่านชั่งน้ำหนักรถบรรทุกในขณะรถวิ่ง (Weight in Motion: WIM) พร้อมทั้งระบบกล้องถ่ายป้ายทะเบียน (LPR) ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ทล. ได้ติดตั้งระบบ WIM และ LPR แล้ว 192 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 16 แห่ง และต้องการเพิ่มเติมอีก 752 แห่ง ตามเป้าหมายที่จะติดตั้งให้ครบ 960 แห่ง ครอบคลุมโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีสถานีตรวจสอบน้ำหนักและจุดจอดพักรถบรรทุกรวมจำนวน 103 สถานี รวมถึงหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) จำนวน 106 ชุด และมีแผนจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันยังให้ ทล. เร่งศึกษาและพิจารณาถึงการแก้ไขข้อกฎหมาย เพื่อกำหนดให้บทลงโทษหนักขึ้น พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อให้ทุกกระบวนการมีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยทล. ได้รายงานว่าจากการดำเนินงาน ทำให้พบการกระทำความผิดบรรทุกน้ำหนักเกินลดลงอย่างชัดเจน โดยจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 19 มิถุนายน 2567 มียอดจับกุมผู้กระทำผิดไปแล้ว จำนวน 2,107 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการจับกุมได้ 2,659 คัน ส่วนตลอดทั้งปี 2566 มีผู้กระทำความผิดจำนวน 3,416 คัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีผู้กระทำความผิดจำนวน 3,488 คัน อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด และการกระทำความผิดจะต้องลดลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ทล. ยังได้รายงานถึงการวิเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่ที่มีพฤติกรรมความเสี่ยงของการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด เพื่อใช้สำหรับลงพื้นที่ในการตรวจสอบ โดยเป็นการนำข้อมูลจากการร้องเรียน การจับกุม และแหล่งวัสดุมาใช้ในการวิเคราะห์ พบว่า 10 จังหวัดที่พบการกระทำผิดมากสุด ได้แก่ 1.พระนครศรีอยุธยา 2.นครราชสีมา 3.ขอนแก่น 4.ชลบุรี 5.กรุงเทพมหานคร 6.สมุทรปราการ 7.นครสวรรค์ 8.อุบลราชธานี 9.สระบุรี และ 10.ฉะเชิงเทรา
ขณะที่ ทช. นั้น มอบหมายให้เข้มงวดตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยจากการรายงานของ ทช. ระบุว่าขณะนี้ได้ดำเนินการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนัก แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ด่านชั่งน้ำหนักถาวร (Weigh Station) 5 แห่ง 2.ด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) 92 หน่วย และ 3.ด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะขณะเคลื่อนที่ (WIM) 19 จุด ทั่วประเทศ