ส่งออกอัญมณี ส.ค. 67 พลิกกลับมาบวกเพิ่ม 17.63% หลังชะลอตัวไป 2 เดือน หลังแห่ขายทองคำเก็งกำไร

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT มองแนวโน้มการส่งออกอัญมณีไทยว่าจะยังขยายตัวได้ดี เพราะปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกคลี่คลายลง นโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มผ่อนคลายลง การเติบโตทางภาคบริการของโลกยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก และตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ ก็ขับเคลื่อนด้วยภาคบริการ ส่วนสหภาพยุโรปเริ่มฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการจับจ่ายเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่มีสัญญาณฟื้นตัว และ Deloitte มีการคาดการณ์การขายปลีกช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 2.3-3.3% แต่ยังต้องติดตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวและไม่ถดถอยจริงหรือไม่ รวมถึงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีผลต่อการเมืองและเศรษฐกิจโลก ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง และการกีดกันการค้า ที่ยังเป็นประเด็นกดดัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีมีเทศกาลสำคัญหลายเทศกาล ผู้ผลิตและผู้ส่งออกควรออกแบบแคมเปญที่เชื่อมโยงกับเทศกาลเหล่านี้ โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะกับการให้เป็นของขวัญ เน้นใช้การตลาดดิจิทัล โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เนื่องจากผู้บริโภคมักค้นหาของขวัญจากช่องทางออนไลน์ สื่อสารถึงความหมายและคุณค่าทางอารมณ์ของเครื่องประดับในการทำแคมเปญ เพราะการใช้กลยุทธ์เหล่านี้ร่วมกันจะช่วยให้ผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับสามารถดึงดูดลูกค้าและเพิ่มยอดขายในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงที่มีโอกาสทางธุรกิจสูง

สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน ส.ค. 2567 มีมูลค่า 674.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.63% กลับมาเพิ่มขึ้น หลังชะลอตัว 2 เดือนก่อนหน้านี้ และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,129.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 40.84% ส่วนยอดรวม 8 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 5,778.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.82% หากรวมทองคำ มูลค่า 10,431.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.27%

ทั้งนี้ การส่งออกทองคำเดือน ส.ค. 2567 มีมูลค่า 455.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 99.01% เนื่องจากราคาทองคำในเดือน ส.ค.ยังทรงตัวในระดับสูงและพุ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 2,513 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ รวมทั้งกองทุนทองคำ SPDR มีการซื้อทองคำสุทธิตลอดเดือนเพิ่มขึ้น 19.57 ตัน ทำให้มีการส่งออกไปเก็งกำไรเพิ่มขึ้น ส่วนยอดรวม 8 เดือน ส่งออกทองคำมีมูลค่า 4,653.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 28.80% และหากแยกการส่งออกทองคำเป็นรายเดือน ม.ค. มูลค่า 469.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 194.17% ก.พ. มูลค่า 740.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 309.51% มี.ค. มูลค่า 391.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 75.02% เม.ย. มูลค่า 288.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 64.57% พ.ค. มูลค่า 582.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 135.39% มิ.ย. 544.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 184.12% ก.ค. 1,180.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 434.13%

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยฮ่องกง เพิ่ม 10.74% สหรัฐฯ เพิ่ม 10.89% อินเดีย เพิ่ม 48.80% เยอรมนี เพิ่ม 13.87% อิตาลี เพิ่ม 30.94% เบลเยี่ยม เพิ่ม 42.55% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 11.69% ญี่ปุ่น เพิ่ม 2.83% ส่วนสหราชอาณาจักร ลด 6.92% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 15.25% ขณะที่การส่งออกสินค้า ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 7.73%

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles