ส่องรายได้ชาวนาไทยหักรายจ่ายเหลือ 82,000 บาท แต่หนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนล่อไปตั้ง 243,000 บาท หนี้ชาวนาบวมกว่ารายได้ 3 เท่ากว่า พาณิชย์โอ่ส่งออกข้าวไทยปีนี้ลุ้น 10 ล้านตันสบายๆ

ส่องรายได้ ชาวนา ไทยหักรายจ่ายเหลือ 82,000 บาท แต่ หนี้ สินเฉลี่ยครัวเรือนล่อไปตั้ง 243,000 บาท หนี้ชาวนาบวมกว่ารายได้ 3 เท่ากว่า พาณิชย์โอ่ส่งออกข้าวไทยปีนี้ลุ้น 10 ล้านตันสบายๆ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีที่บี หรือ ttb analytics เปิดเผยว่า รายได้ภาคเกษตรของไทยปี 2566 อยู่ที่ 230,000 บาท และเมื่อหักรายจ่ายแล้วจะเหลือรายได้คงเหลือก่อนชำระหนี้อยู่ที่ 82,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับหนี้สินของเกษตรกรต่อครัวเรือนอยู่ที่ 243,000 บาท สะท้อนถึงภาระหนี้สินมากกว่ารายได้ที่หาได้ปัญหาเรื่องหนี้ก็คงจะไม่สามารถบรรเทาเบาบางลง โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาที่เป็นเกษตรกรผู้ผลิตข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย ให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้กลุ่มชาวนาเผชิญกับปัญหารายได้ไม่ครอบคลุมต่อค่าใช้จ่าย และภาระหนี้ที่มีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบ เช่น ปุ๋ยสภาพภูมิอากาศ และราคาขาย

ผลตอบแทนซึ่งหมายถึงรายได้หลังหักต้นทุนจากการปลูกข้าวในปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีผลตอบแทนเพียง 1,400-2,400 บาทต่อไร่ (ขึ้นอยู่กับมีพื้นที่ทำนาในครอบครองหรือไม่) ซึ่งหากมีการถือครองที่ดิน 20 ไร่ในเขตชลประทาน ก็ยังได้รับผลตอบแทนเพียง 96,000 บาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 หากมองถึงสถานการณ์ที่กดดันผลตอบแทนของชาวนาอาจเริ่มเบาบางจากภาวะต้นทุนปุ๋ยที่มีแนวโน้มปรับลดลง โดยสถานการณ์คาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2568 จากราคาผลผลิตที่คาดยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและปริมาณฝนที่คาดว่าจะกลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการเพาะปลูกปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,800-2,800 บาทต่อไร่

ผลตอบแทนดังกล่าวที่แม้อยู่บนเงื่อนไขที่ดีทั้งระดับราคา ผลผลิต ปริมาณฝนที่เหมาะกับการเพาะปลูก รวมถึงต้นทุนการเพาะปลูกที่ทุเลาเบาบางลง แต่เมื่อเทียบกับค่าจ้างแรงงานนอกภาคเกษตรตามข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ 187,000 บาทต่อปี ซึ่งถ้าชาวนาอยากได้ผลตอบแทนเทียบเท่าจำนวนดังกล่าว ก็ต้องถือครองที่ดินในเขตชลประทานกว่า 52 ไร่ (กรณีมีค่าเช่านา) หรือ 34 ไร่ (กรณีมีที่นาเป็นของตนเอง) ซึ่งโดยค่าเฉลี่ยการถือครองที่ดินของชาวนาพบว่า มีการถือเฉลี่ยราว 10-20 ไร่ อันสะท้อนถึงภาวะทรัพยากรที่มีอยู่ไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอให้ชีวิตทางการเงินของชาวนาไทยหลุดพ้นจากแรงกดดันได้

ขณะที่ นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – ต.ค.) ไทยส่งออกข้าวแล้วปริมาณ 8.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20% มีมูลค่า 191,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 40% โดยส่งออกข้าวขาวมากเป็นอันดับหนึ่งที่ปริมาณ 5.18 ล้านตัน คิดเป็น 62% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย 1.37 ล้านตัน ข้าวนึ่ง 1.01 ล้านตัน ข้าวหอมไทย 0.54 ล้านตัน ข้าวเหนียว 0.23 ล้านตัน และข้าวกล้อง 0.02 ล้านตัน ซึ่งไทยส่งออกข้าวไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนในทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าในเดือนพ.ย.ผ่านไป มีการขออนุญาตส่งออกข้าวแล้วประมาณ 0.92 ล้านตัน เมื่อรวมกับปริมาณส่งออกข้าว 10 เดือนแรกที่ส่งออกแล้ว 8.35 ล้านตัน จึงมีตัวเลขส่งออกข้าว 11 เดือน อยู่ที่ประมาณ 9.27 ล้านตัน ถือว่าทะลุเป้าที่ตั้งไว้ที่ 9 ล้านตันแล้ว ทั้งปีมีโอกาสลุ้นถึง 10 ล้านตัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles