ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานภาวะหนี้ครัวเรือนประจำไตรมาส 2 ปี 2567 พบว่ายอดหนี้คงค้างในระบบมีทั้งสิ้น 16.32 ล้านล้านบาท ลดลง 35,263 ล้านบาท หรือลดลง 0.22% เมื่อเทียบจากไตรมาสที่ 1 ปีนี้ที่มียอดคงค้าง 16.36 ล้านล้านบาท ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทยลดลงจาก 90.9% เป็น 89.6% ซึ่งทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ไตรมาส หรือ 4 ปี แต่สัดส่วนดังกล่าวในไตรมาสที่ 2 ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 80% ตามมาตรฐานโลกของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ หรือ BIS ที่น่าสนใจ คือ มูลค่าหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ กลับพบว่ายังคงเพิ่มขึ้นอีก 212,102 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.32% เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันปี 2566
สำหรับรายละเอียดของแต่ละประเภทหนี้นั้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือในภาพรวมยังคงเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรงรับจำนำเพิ่มขึ้น 6.05% ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินเพิ่ม 3.6% สหกรณ์ออมทรัพย์ 0.97% และบริษัทประกันชีวิตและประกันภัยเพิ่ม 0.12% ขณะที่หมวดที่ปรับลดลง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ลดลง 4.44% ธนาคารพาณิชย์ลดลง 54,614 ล้านบาทหรือลดลง 0.86% บริษัทบัตรเครดิต ลีสซิ่งและสินเชื่อส่วนบุคคลลดลง 0.72% สถาบันการเงินอื่นลดลง 0.33%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ปีนี้ ที่ชะลอลง 0.22% มาจากการชำระคืนหนี้ที่มีมากกว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ในบางหมวดทั้งธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อรายย่อยธนาคารพาณิชย์และสินเชื่อบัตรเครดิต ลีสซิ่งและสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีสูงกว่า จึงเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดลง ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีแนวโน้มจะทบทวนการคาดการณ์ภาวะหนี้ครัวเรือน จากเดิมที่ประเมินไว้สิ้นปีจะอยู่ที่ประมาณ 90.7% ต่อจีดีพี