หม้ายหญิงแกร่ง! หม้ายหญิงไทยสู้ชีวิตพลิกตัวเองขึ้นเป็นเจ้าของธุรกิจหลังสามีเสียชีวิต

หม้ายหญิงแกร่ง! หม้ายหญิงไทย สู้ชีวิตพลิกตัวเองขึ้นเป็นเจ้าของธุรกิจหลังสามีเสียชีวิต

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ เปิดเผยรายงานวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับ ครัวเรือนไทยปรับตัวอย่างไรหลังจากคู่สมรสเสียชีวิต เนื่องจากการรับมือในครัวเรือนจากผลกระทบของการมีรายได้ที่ลดลง หรือการว่างงานมาเป็นเวลานานแล้ว ในบรรดาความเสี่ยงต่างๆ ปัญหาสุขภาพของผู้มีรายได้หลักเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ครัวเรือนต้องเผชิญ หากระบบประกันสังคมไม่สามารถบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าวได้เพียงพอ การรับมือกับผลของความเสี่ยงนั้นอาจตกอยู่กับสมาชิกคนอื่นในครัวเรือนเอง

ผลกระทบกรณีที่เกิดการเสียชีวิตของหัวหน้าครัวเรือนไม่ว่าจะเป็นสามี หรือภรรยา พบว่า หลังจากสามีเสียชีวิตไปแล้ว แม่หม้ายมีแนวโน้มเป็นคนงานในครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้างนั้น มีสัดส่วนลดลงประมาณร้อยละ 28.3 และมีแนวโน้มเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้นประมาณร้อยละ 19.9 นอกจากนี้แม่หม้ายยังมีการรับลูกและญาติคนอื่นๆ มาช่วยงานในครัวเรือน โดยมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ร่วมกับลูกเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 และลูกสาวมีแนวโน้มที่จะย้ายมาอยู่ร่วมกับแม่หลังจากที่พ่อเสียชีวิตมากกว่าลูกชาย อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาครัวเรือนที่ภรรยาของหัวหน้าครัวเรือนเสียชีวิต พบว่าพ่อหม้ายกลับมีแนวโน้มที่จะเลิกทำงานมากขึ้น

งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่า การรับเงินของขวัญจากญาติมิตร หรือการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐนั้น แม่หม้ายมีรายได้จากเงินของขวัญเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 บาทในปีที่สามีเสียชีวิต อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของรายได้จากเงินของขวัญนี้มีความแตกต่างกันระหว่างครัวเรือน โดยเงินของขวัญนี้จะสูงถึง 40,000 บาทสำหรับครัวเรือนของแม่หม้ายที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านขนาดเล็ก (หมายถึงหมู่บ้านที่มีจำนวนครัวเรือนต่ำกว่า 168 ครัวเรือน) แต่ในหมู่บ้านขนาดใหญ่นั้น แม่หม้ายได้รับเงินของขวัญเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 บาทเท่านั้น

ซึ่งความแตกต่างที่เกิดขึ้นอาจอธิบายได้จากทั้งปัจจัยด้านอุปทาน คือครัวเรือนในหมู่บ้านขนาดเล็กอาจมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกว่า และปัจจัยด้านอุปสงค์คือครัวเรือนแม่หม้ายในหมู่บ้านขนาดเล็กอาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินของขวัญมากกว่า อย่างไรก็ตาม รายได้จากเงินของขวัญนี้ไม่ได้มีความต่อเนื่องในปีถัดๆ ไป นอกจากนี้ยังพบว่าเงินโอนหรือรายรับจากภาครัฐลดลงด้วย

ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าความช่วยเหลือจากภายนอกครัวเรือนไม่ว่าจะเป็นเงินของขวัญจากญาติมิตร หรือรายได้จากภาครัฐไม่ได้มีความต่อเนื่องถาวร ดังนั้น แม่หม้ายจึงต้องพึ่งพาสมาชิกในครอบครัวเป็นหลักหลังจากสามีเสียชีวิต

นอกจากนี้ การศึกษานี้ไม่พบหลักฐานว่าแม่หม้ายพึ่งพาเงินจากภาครัฐมากขึ้นหลังจากที่สามีเสียชีวิต ผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่า ครัวเรือนไทยรับมือความเสี่ยงโดยพึ่งพาสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก คำถามที่ว่าภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้นหรือไม่ ในการช่วยเหลือครัวเรือนให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดจากการเสียชีวิตของสมาชิกครัวเรือน จึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยและศึกษากันต่อไป

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ เปิดเผยว่า บทความนี้สรุปจากงานวิจัย เรื่อง “Surviving Loss: Coping Strategies among Widow Households in Thai Rural Areas” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่อยู่ระหว่างการศึกษาต่อเนื่อง ดังนั้น อาจมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในอนาคต

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles