นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำคณะฯ เข้าพบแสดงความยินดีกับคุณแพรทองธาร ชินวัตร ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา พร้อมทั้งหารือถึงประเด็นสำคัญในการเร่งสร้างความเชื่อมั่นและแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจ ไทยอย่างตรงจุด โดยหอการค้าไทยได้จัดทำข้อเสนอทางเศรษฐกิจเร่งด่วนมอบต่อนายกรัฐมนตรี ณ อาคารชินวัตรทาวน์เวอร์ 3 ถนนวิภาวดีรังสิตกรุงเทพฯ
โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะฯ กล่าวว่า การหารือร่วมกันในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้รับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน วันนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความเชื่อมั่น ชัดเจน ซึ่งส่วนนี้จะเป็นกรอบในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเน้นย้ำการปลดและลดหนี้ร่วมกัน ด้วยวิธีการลดส่วนต่างของดอกเบี้ยและจัดการหนี้นอกระบบ การจัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาหนี้ การจัดการเรื่อง Anti-dumping และเห็นด้วยกับหอการค้าฯ ในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริม Soft Power และสิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวตามเป้าหมาย Net zero ที่ไทยประกาศไว้
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายและปัญหาหลากหลายมิติ หอการค้าฯ ได้รับระดมความเห็นจากเครือข่ายเอกชนทั่วประเทศโดยมี 3 เรื่องเร่งด่วนที่ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ 1.การสร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว 2.การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน SMEs และ 3. การวางยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน
สำหรับ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ หอการค้าไทยฯได้เสนอแผนงานเร่งด่วนระยะสั้น ได้แก่ กระจายงบประมาณ (De-Centralized) เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ให้กระจายไปทุกภูมิภาค และให้ความสำคัญกับจัดทำงบประมาณปี 68 ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ไม่ให้ยืดเยื้อเหมือนในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งกระตุ้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว รวมถึง การกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังประชาชน 3 กลุ่ม ทั้งมุ่งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจไปยังกลุ่มเปราะบาง เป็นสิ่งเร่งด่วนก่อน เพื่อให้กลุ่มนี้มีกำลังซื้อทันที กลุ่มประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อ สามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคนละครึ่งช่วยเพิ่มกำลังซื้อ โและกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง สามารถออกมาตรการเพื่อดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันยังต้อวมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา อาทิ ลดค่าใช้จ่ายทั้งการลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน ตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น , การพิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (3) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตามแต่ละประเภทให้ชัดเจน,สถาบันการเงินต่างๆ ควรผ่อนผันค่าปรับการจ่ายหนี้ล่าช้า เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน เป็นต้น ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบที่มีอยู่ ให้เอื้อต่อการแข่งขันของภาคธุรกิจ
ขณะที่ แผนงานระยะกลางและยาว เช่นเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยอาศัยกลไกที่มีอยู่ เน้นการสื่อสารนโยบายเศรษฐกิจให้ชัดเจน วัดผลสำเร็จด้านเศรษฐกิจ เอกชนเห็นว่าควรตั้งเป้า GDP ประเทศ ไม่ต่ำ 3 – 5% โดยส่งเสริมการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รัฐบาลเสมือนเซลส์แมนเปิดการขาย และจำเป็นต้องปิดการขายให้ได้ ซึ่งต้องมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลความสำเร็จอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ควรใช้ Ease of Doing Business Index เป็นดัชนีวัดผลการปรับปรุงกฎระเบียบในการทำธุรกิจของประเทศ ตลอดจนมีมาตรการ กฎระเบียบ หรือกฎหมาย ที่สอดรับกับแนวทาง SDGs เพื่อให้เกิดการยอมรับจากนานาชาติ
นอกจากนี้ยังต้องเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการผ่านกลยุทธ์ ผลักดัน ตั้งรับ จับมือ ช่วยให้สินค้าไทยแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ตลอดจนการวางยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน
“ข้อเสนอระยะเร่งด่วนนี้จะช่วยทำให้ GDP ของไทยกลับมาเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 – 5% ต่อปี โดยหอการค้าไทยและเครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศพร้อมสนับสนุนและทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อทำให้ประเด็นข้อเสนอทางเศรษฐกิจเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนและเห็นผลเป็นรูปธรรม” นายสนั่น กล่าว