นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยพร้อมสนับสนุนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกรอบกฎหมาย และเป็นไปตามคณะกรรมการของไตรภาคีจังหวัด และล่าสุดคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ด) มีการพิจารณาการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทใน 4 จังหวัด 1 อำเภอ โดยเฉลี่ยการปรับภาพรวมอยู่ที่ 2% ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับพื้นที่เศรษฐกิจที่มีการเติบโตทั้งด้านอุตสาหกรรมและบริการ
โดยในการพิจารณาตัวเลขค่าจ้างถือว่าเหมาะสม เพราะหากไม่พิจารณาค่าจ้างเลยก็เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้มีการปรับค่าจ้างมาปีกว่าแล้ว และยังมองว่าไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก แต่จะไม่กระทบเลยก็อาจจะไม่ใช่ ซึ่งภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นจะต้องหามาตรการเข้ามาดูแลและช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เช่น ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ 1 อำเภอ คือ เกาะสมุย ก็พิจารณาตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม บริการ แต่ในพื้นที่เหล่านั้นจะมีภาคเกษตร หรือผู้ประกอบการขนาดเล็กที่อาจจะได้รับผลกระทบจากค่าจ้าง 400 บาท ซึ่งรัฐบาลเองจำเป็นต้องเข้ามาดูแลเพื่อประคองให้ยังคงดำเนินธุรกิจและไม่ให้ได้รัยผลกระทบเกินไป รวมถึงจังหวัดอื่นด้วย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าการพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ คาดว่าเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 3% หรือประมาณ 10 บาท ซึ่งเป็นผลดีทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 3,000 บาท โดยค่าแรงที่ปรับขึ้นผู้ประกอบการมองว่ายังรับได้ ส่งผลต่อการใช้จ่ายและกระตุ้นจีดีพีประมาณ 0.2%
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ มีผลต่อต้นทุนราคาสินค้าประมาณ 2.5-5% โดยเชื่อว่าจะกระทบเงินเฟ้อไม่มากและยังคงอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ แต่อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ยังส่งผลให้ผู้ประกอบการจะหันไปใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในธุรกิจมากขึ้น และยังเป็นตัวชะลอดึงดูดการลงทุน
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมการค้าภายในพร้อมติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค สินค้าที่จำเป็น จากผลระทบจากปัจจัยค่าแรงขั้นต่ำที่มีการพิจารณาปรับ 400 บาท อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีการหารือโดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรง ว่ามีผลต่อต้นทุนการผลิตมากน้อยแค่ไหน โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คือ กลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงาน แรงงานฝีมือ และสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ปลากระป๋อง อาหารทะเล และอาหารตามสั่ง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องดูปัจจัยต้นทุน โครงสร้างราคาสินค้าอื่นประกอบด้วย เพราะไม่ใช่เรื่องของค่าแรงเพียงอย่างเดียว
อีกทั้ง ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นจะกระทบเงินเฟ้อ ยังต้องมีหลายปัจจัยประกอบการพิจารณา ส่วนจะมีให้ปรับขึ้นราคาสินค้ามองว่ายังไม่มีเหมาะสม และยังไม่ใช่ข้อกังวลที่จะเป็นปัจจัยประกอบการในการขึ้นราคาสินค้า