องค์กรผู้บริโภคเปิดผลทดสอบ สีสังเคราะห์ ในผลิตภัณฑ์ชา กว่า 50% ฉลากไม่ครบถ้วน เสี่ยงไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ร้อง อย.เข้มงวด ทบทวนกฎหมายใช้สีผสมอาหารใหม่

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ผลการตรวจวิเคราะห์สีในชา ชาผงสำเร็จรูปและชาปรุงสำเร็จ พบว่ามีถึงร้อยละ 50 ที่แสดงฉลากไม่ครบถ้วน บางยี่ห้อแสดงฉลากว่าใส่สีหนึ่ง แต่ตรวจพบอีกสีหนึ่ง บางยี่ห้อแสดงฉลากว่าใช้ 1 สี แต่ตรวจพบถึง 5 สี ขณะที่บางยี่ห้อขึ้นทะเบียน อย. สำหรับการขาย “ขิงผง” เป็นต้น

โดยจากการที่นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมมือกับสภาผู้บริโภค เปิดเผยผลทดสอบสีในชา ชาผงสำเร็จรูปและชาปรุงสำเร็จ 20 ตัวอย่าง จากร้านค้าและออนไลน์ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (อ่านข่าว https://ffcthailand.org/news/ColorsinThaiTea) คุณทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ และรองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สีที่ใช้ เป็นสีที่สามารถนำมาผสมอาหารได้ แต่เราพบว่า ชา 10 ตัวอย่าง จาก 20 ตัวอย่าง ไม่แสดงสูตรส่วนประกอบบนฉลาก จึงไม่สามารถจัดประเภทอาหารได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ชาแบบผงในสภาพพร้อมบริโภค เพราะไม่มีการแสดงวิธีปรุงบนฉลาก สะท้อนให้เห็นปัญหาในการแสดงฉลาก และเรื่องนี้ยังมีผลต่อการพิจารณาบังคับใช้กฎหมาย หากมีการใส่สีเกินมาตรฐาน นอกจากนี้ฉลากบางยี่ห้อระบุว่าใส่หนึ่งสี ได้แก่ “Sunset Yellow FCF” แต่ผลการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการกลับพบถึง 5 สี

อย่างไรก็ตาม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 196 พ.ศ. 2543 เรื่องชา เรายังไม่สามารถบอกได้ว่ามีการใช้สีเกินมาตรฐาน เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดเพดานสูงสุด ของการใส่สีสังเคราะห์แต่งสีแต่งกลิ่นในชา https://food.fda.moph.go.th/media.php?id=509295897327312896&name=P196.pdf

หากต้องการพิสูจน์ว่ามีการใส่สีสังเคราะห์ในชาเกินมาตรฐาน ต้องยึดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 444 พ.ศ. 2566 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 3) https://food.fda.moph.go.th/media.php?id=573326216132698112&name=P444.pdf ซึ่งวิธีการทดสอบต้องทำตามสูตรที่ระบุข้างฉลาก เช่น “ใช้ชา 2 กรัม ผสมน้ำ 200 CC” จากนั้นจึงนำไปตรวจวิเคราะห์ว่ามีการใช้สีสังเคราะห์เกินกว่ากฎหมายกำหนดหรือไม่ แต่ปัญหาคือร้อยละ 50 ของตัวอย่างชา ไม่ได้บอกสูตรไว้บนฉลาก ผู้บริโภคจึงไม่สามารถรู้ได้ว่าตนเองได้รับสีสังเคราะห์เกินปริมาณที่ร่างกายรับไหวหรือไม่ ที่สำคัญหากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร เช่น สังขยาชาไทย หรือผู้ประกอบการร้านชาไทย อาจใช้สูตรของตัวเองด้วยการนำชาหลายยี่ห้อมาผสมกัน เพื่อให้ได้กลิ่นหอมและสีสวยตามที่ต้องการ การควบคุมจึงทำได้ยาก จึงต้องส่งเสียงไปถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่ออนุญาตให้ใช้สีในผลิตภัณฑ์ชา ก็ควรกำหนดปริมาณการใช้ด้วย

ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า การที่ฉลากไม่บอกวิธีชงชา นี่ถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะผู้บริโภคไทย ไม่ได้รับการสอนเรื่องความเป็นสารพิษเจือปนในอาหาร โดยเฉพาะสีสังเคราะห์ที่ถือเป็นสารแปลกปลอม ทำให้ตับและไตทำงานหนักขึ้น ยิ่งใส่เกินมาตรฐานก็ยิ่งสร้างผลกระทบทวีคูณ เห็นได้ชัดจากผลแลปที่พบว่า ชาบางยี่ห้อใส่สีเกิน1 สี บางยี่ห้อมากถึง 5 สี เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็เหมือนการกินยาหลายชนิด ทำให้ยาตีกัน อาหารก็เช่นกัน ต้องถามว่าจำเป็นแค่ไหนที่จะเอาร่างกายเข้าไปเสี่ยง แต่ปัญหาคือผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ยิ่งซื้อผ่านออนไลน์ ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะกฎหมาย อย. ครอบคลุมไปไม่ถึง ทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่แจ้งส่วนประกอบในฉลาก และอาจมีสิ่งแปลกปลอมที่อันตรายผสมอยู่

จากปัญหาข้างต้น คุณโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่าการที่ข้อมูลบนฉลากในชาไทยไม่ถูกต้องครบถ้วน อาจนำมาซึ่งอันตรายในการบริโภค การให้ข้อมูลไม่หมด ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค และอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 จึงเสนอให้ อย. แสดงบทบาทในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อจัดการสินค้าที่เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค และขอรณรงค์ให้ผู้ประกอบธุรกิจ มีทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงชาที่ใช้สีธรรมชาติ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีอิสระในเลือกซื้อสินค้า รวมถึงทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการใช้สีผสมอาหาร และการแสดงฉลากที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค โดยขอให้ทบทวนและปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการใช้สีผสมอาหาร ทั้งในแง่วิชาการและประโยชน์ต่อผู้บริโภค ให้เป็นมิตรและสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles