นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า อสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า มีการชะลอตัวอย่างมากในด้านความต้องการทั้งจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ และจำนวนเงินสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ขยายตัว ซึ่งลดลง -13.8% และ -20.5% ตามลำดับ ทั้งหมดเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่งผลทำสถิติต่ำสุดในรอบ 25 ไตรมาส หรือใน 6 ปีเศษ
การชะลอตัวอย่างมากของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 1 ปี 2567 โดยเฉพาะด้านอุปสงค์นั้น ปรากฏว่า หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีจำนวน 72,954 หน่วย ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำสุดในรอบ 25 ไตรมาส และยังมีการขยายตัวลดลงร้อยละ -13.8 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีจำนวน 84,619 หน่วย สอดรับกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบลดลงมากสุดถึง -18.9% และอาคารชุดลดลง -0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566
สำหรับมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศไตรมาส 1 ปี 2567 มีมูลค่า 208,732 ล้านบาท ซึ่งทำสถิติมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส และยังมีการขยายตัวลดลง -13.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีจำนวน 241,167 ล้านบาท ที่สำคัญ พบว่ามูลค่าการโอนแนวราบลดลงมากสุดถึง -14.6% และอาคารชุดลดลง -10.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566
ในแง่ระดับราคาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์มีการขยายตัวลดลงในทุกระดับราคา โดยกลุ่มราคาที่ลดลงมากที่สุด คือราคา 5.01-7.50 ล้านบาท ที่ลดลง -20% อันดับ 2 คือราคา 1.51-2.00 ล้านบาท ที่ลดลง -19.8% อันดับ 3 ราคา 3.01-5.00 ล้านบาทที่ลดลง -18.2% และระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาทที่ลดลงร้อยละ -18.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในราคาเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป มีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านใหม่ที่มากกว่าบ้านมือสอง แต่ขณะที่ตลาดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่เป็นบ้านมือสองที่สูงกว่าบ้านใหม่