วันนี้ 23 ธันวาคม 2024 ฮอนด้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ 2 ในญี่ปุ่น และนิสสัน มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ 2 ในญี่ปุ่น เปิดแถลงข่าวด้วยแถลงการณ์ร่วมของทั้ง 2 บริษัท พร้อมกับลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ร่วมกัน ว่าให้มีการกำหนดเป้าหมายในการควบรวมภายในเดือนสิงหาคม ปี 2026 โดยใช้รูปแบบการจัดตั้งบริษัทประเภทโฮลดิ้งส์ คอมพานี นอกจากนี้ ด้านโครงสร้าง และสายการบริหารของบริษัทโฮลดิ้ง คอมพานี แห่งนี้ ฮอนด้า มอเตอร์ จะส่งผู้บริหารระดับสูงนั่งในตำแหน่งประธานบริษัทโฮลดิ้ง คอมพานี และกรรมการโดยส่วนใหญ่จะถูกแต่งตั้งโดยฮอนด้า มอเตอร์ เข้านั่งบริหารร่วมกับกรรมการที่แต่งตั้งมาจากนิสสัน มอเตอร์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันที่จะดำเนินการเจรจาในรายละเอียดของการควบรวมให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2025 นี้
แถลงการณ์ร่วมของทั้ง 2 บริษัท เปิดเผยต่อไปว่า ศักยภาพของพลังประสานร่วมกันทั้ง 2 ฝ่ายจะส่งผลให้การควบรวมของฮอนด้าและนิสสันกลายเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมการเคลื่อนที่ระดับโลกที่จะมียอดขายรวมกันกว่า 30 ล้านล้านเยน หรือ 190,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 6.7 ล้านล้านบาท และจะมีกำไรรวมกันกว่า 3 ล้านล้านเยน หรือกว่า 670,000 ล้านบาท พลังประสานร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ที่ได้จากการเจรจาควบรวมมีทั้งหมด 7 ด้าน เช่น การรวมกันของการทำงานด้านวิจัยและพัฒนา การผลิตที่ได้ขนาดดีที่สุด ซึ่งจะได้จากแพลทฟอร์มการผลิตยานยนต์ที่เป็นมาตรฐาน การเสริมความแข็งแกร่งด้านขีดความสามารถในการแข่งขันที่ได้จากเครือข่ายการผลิต และการมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทเปลี่ยนแปลงไป และอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ที่ขยายตัวมากขึ้นนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน และความเร็วของนวัตกรรมเทคโนโลยียังคงเร่งตัวต่อไป การควบรวมจะยังส่งผลให้องค์กรมีโครงสร้างที่ลดลง มีความคล่องตัวสูงมากขึ้น ทำให้มีความสามารถที่จะปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาด โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีแผนงานที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการร่วมพัฒนาแบรนด์ซึ่งกันและกันที่ต่างฝ่ายต่างมีอยู่ในปัจจุบัน
ในแง่โครงสร้างขององค์กร หรือบริษัทโฮลดิ้ง คอมพานี ที่มีแผนจะร่วมก่อตั้งกันขึ้นนั้น ในอนาคต จะนำบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และภายหลังจากแปลงสถานะเป็นบริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของทั้งหมดแล้ว บริษัทฮอนด้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ จะดำเนินการยื่นเรื่องถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์โตเกียวประเทศญี่ปุ่น
นายโตชิฮิโร มิเบะ ประธานบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ กล่าวว่า การควบรวมทางธุรกิจจะทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จในด้านความแข็งแกร่งในการแข่งขันที่แท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่มีทางสำเร็จได้ภายใต้กรอบการทำงานของความร่วมมือของทั้ง 2 บริษัท
นายมาโกโตะ อูชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ บริษัทนิสสัน มอเตอร์ กล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นเผชิญกับความต้องการอย่างรวดเร็วที่จะต้องไล่ให้ทันกับคู่แข่งจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเทสลาจากสหรัฐ และบีวายดีจากจีน เมื่อมีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้นในตลาดครั้งแล้วครั้งเล่า และโครงสร้างของอำนาจในตลาดได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การผลิตที่ได้เปรียบด้านขนาดจะกลายเป็นสิ่งที่มีพลังมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา
ด้านนายทาคาโอะ คาโตะ ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ มิตซูบิชิ มอเตอร์ กล่าวว่า มิตซูบิชิ มอเตอร์ มีเป้าหมายในการได้ข้อสรุปการเข้าร่วมการเจรจาควบรวมภายในสิ้นเดือนมกราคม 2025 ทั้งในแง่การมีส่วนร่วม หรือการมีความเกี่ยวข้องในการควบรวมธุรกิจของทั้งฮอนด้า และนิสสัน มิตซูบิชิ มอเตอร์ สามารถสนับสนุนธุรกิจยานยนต์ทั่วโลกของทั้ง 2 ค่ายรถยนต์ ด้วยการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งแกร่งของเรา ซึ่งรวมถึงธุรกิจในอาเซียน และตลาดรถกระบะขนาดกลาง
สำหรับการเปิดเจรจาครั้งแรกของทั้งสองฝ่ายในวันนี้มีขึ้นในช่วงเช้าที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ METI โดยมีนายโตชิฮิโร มิเบะ ประธานบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ และนายมาโกโตะ อูชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ บริษัทนิสสัน มอเตอร์ เข้าพบเจรจากับรัฐมนตรีกระทรวงดังกล่าว
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคมผ่านมา บริษัทหงไห่ พรีซิชั่น อินดัสตรี จำกัด หรือเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อว่า ฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดอกเตอร์รายใหญ่ที่สุดในไต้หวันและมีชื่อเสียงระดับโลก เปิดเผยว่า บริษัทได้พักความสนใจชั่วคราวในการเจรจากับเรโนลท์ เอสเอ ซึ่งเป็นผู้ที่ถือหุ้นในสัดส่วนมากถึง 36% ของนิสสัน มอเตอร์ เพื่อนำไปสู่การเข้าถือหุ้น และครอบครองนิสสัน มอเตอร์ หลังจากตัวแทนผู้บริหารระดับสูงของฟ็อกซ์คอนน์ได้พบกับฝ่ายบริหารระดับสูงของเรโนลท์ เอสเอ ที่ประเทศฝรั่งเศสในไม่กี่วันที่ผ่านมา
ฟ็อกซ์คอนน์ตัดสินใจที่จะติดตามความคืบหน้าในการเปิดเจรจาควบรวมของฮอนด้า มอเตอร์ที่มีกับนิสสัน มอเตอร์ โดยอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องตามกระบวนการของการเจรจา และกฎหมาย ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกล้วนเป็นที่ทราบดีว่า ฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนด็อกเตอร์ตลอดจนผลิตแพลตฟอร์ม หรือโครงสร้างชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่ไฟฟ้า รวมถึงมีศักยภาพอย่างมากในการที่จะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรืออีวีในระดับโลกนั้น มีความต้องการอย่างชัดเจนในการที่จะเข้าสู่องค์การอุตสาหกรรมผลิตรถอีวี ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจในการเป็นซัพพลายเออร์ผลิตสมาร์ทโฟน รวมถึงชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ ท่ามกลางการอิ่มตัวของตลาดสมาร์ทโฟน ฟ็อกซ์คอนน์ เป็นซัพพลายเออร์สำคัญที่ผลิตไอโฟนให้กับแอปเปิล อินคอร์ปอเรชั่น มาเป็นระยะเวลานาน
ขณะที่ราคาหุ้นของนิสสันมอเตอร์ในสัปดาห์ผ่านไปพุ่งทะยานขึ้นด้วยความคึกคักสูงถึง 25% หลังจาก ฮอนด้า มอเตอร์เสนอการพูดคุยเจรจาเพื่อการควบรวมกับนิสสัน มอเตอร์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านไป อย่างไรก็ตามราคาหุ้นนิสสันมอเตอร์ที่ทะยานสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 50 ปีนั้นยังคงมีราคาลดลงเกือบ 20% นับตั้งแต่ต้นปีนี้
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมผ่านมา นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่าฮอนด้า มอเตอร์ถึงกับขู่นิสสัน มอเตอร์ว่า จะยุติความร่วมมือเกี่ยวกับเทคโนโลยีผลิตรถยนต์กับนิสสัน มอเตอร์ หากพบว่านิสสัน มอเตอร์แสดงความสนใจในข้อเสนอของฟ็อกซ์คอนน์ รวมถึงจะไม่เข้ามาช่วยเหลือนิสสัน มอเตอร์ หากฟ็อกซ์คอนน์ ดำเนินการควบรวมกิจการนิสสัน มอเตอร์ด้วยวิธีการเทคโอเวอร์อย่างไม่เป็นมิตรต่อนิสสัน มอเตอร์
ขณะที่ กลุ่มผู้ถือหุ้นรายสำคัญในบริษัทนิสสัน มอเตอร์ อย่างเรโนลต์ เอสเอ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังจากประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยว่ายินดีกับฮอนด้า มอเตอร์ที่แสดงความสนใจในการเปิดเจรจาทางเลือกต่างๆในการควบรวมนิสสัน มอเตอร์ สำหรับราคาหุ้นของบริษัทนิสสันมอเตอร์ที่ตลาดหุ้นโตเกียวประเทศญี่ปุ่นปิดตลาดเมื่อวานนี้มีราคาพุ่งสูงขึ้นถึง 24% ทำสติราคาหุ้นพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 50 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1974 เป็นต้นมา สอดคล้องกับราคาหุ้นของบริษัทมิตซูบิชิมอเตอร์สมีราคาพุ่งทะยานสูงขึ้นถึง 20% ทำสติราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปีหรือนับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ท่ามกลางราคาหุ้นของฮอนด้า มอเตอร์ ปรับตัวลดลงในช่วงแคบๆ เพียง 3.4%
ด้านสถาบันการเงินมีชื่อว่า ดาต้าบริคส์ เปิดเผยว่าจากการประเมินภาวะราคาหุ้นตลอดจนการตีค่ามูลค่าสินทรัพย์ต่างๆของทั้งฮอนด้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ รวมถึงโอกาสที่จะกลายขึ้นเป็นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก จึงคาดการณ์ว่ามูลค่าในการเสนอควบรวมนิสสันมอเตอร์ในครั้งนี้จะอยู่ที่ประมาณ 62,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 2.12 ล้านล้านบาท
ย้อนกลับไปเมื่อวานนี้ 18 ธันวาคม 2024 ฮอนด้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ 2 ในญี่ปุ่น และนิสสัน มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ 3 ในญี่ปุ่น เตรียมเปิดการเจรจาเพื่อควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน โดยการตั้งบริษัทโฮลดิ้งส์ คอมพานี ขึ้นมา เพื่อให้ทั้งฮอนด้า และนิสสัน สามารถดำเนินธุรกิจผลิตรถยนต์และทำการตลาดเพื่อแข่งขันกับแบรนด์รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของต่างประเทศ เช่น เทสลาจากสหรัฐ และแบรนด์รถอีวีสัญชาติจีน
ฮอนด้า และนิสสัน จะมีการเปิดแถลงข่าวเร็วๆ นี้ ด้วยการเปิดลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU การจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งส์ คอมพานี ตามข้อมูลเบื้องต้น นอกจากนี้ บริษัทโฮลดิ้งส์ คอมพานี ดังกล่าวนั้น นิสสัน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ มากถึง 24% ซึ่งเป็นอึกหนึ่งผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในญี่ปุ่น จะนำค่ายรถมิตซูบิชิ มอเตอร์ เข้ามาอยู่ภายใต้บริษัทโฮลดิ้งส์ คอมพานี ด้วย ซึ่งยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด การควบรวมดังกล่าวจะส่งผลให้กลายเป็นกลุ่มบริษัทรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ในโลก ด้วยยอดขายรวมกัน 8 ล้านคัน อย่างไรก็ตาม ยอดขายรถยนต์รวมกันทั่วโลกของฮอนด้า และนิสสันในปี 2023 อยู่ที่ 7.4 ล้านคัน
ในปัจจุบันฮอนด้า มอเตอร์ มีมูลค่าบริษัท อยู่ที่ 5.95 ล้านล้านเยน หรือ 38,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.33 ล้านล้านบาท ขณะที่ นิสสัน มอเตอร์ มีมูลค่าบริษัท อยู่ที่ 1.17 ล้านล้านเยน หรือ 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 259,920 ล้านบาท ซึ่งฮอนด้า มอเตอร์ มีมูลค่าตลาดใหญ่กว่านิสสัน มอเตอร์ ถึง 5 เท่า หากการเจรจาควบรวมกิจการด้วยการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง company เป็นผลสำเร็จและมีความชัดเจนแล้วจะกลายเป็นการควบรวมกิจการที่มีมูลค่าขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ปีผ่านมา หรือนับตั้งแต่การควบรวมกิจการระหว่างค่ายรถยนต์เฟียต ไครสเลอร์ กับพีเอสเอ กลายเป็นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันมีชื่อว่า สเตลแลนทิส (Stellantis)
ทั้งนี้ ฮอนด้า และนิสสัน ได้เริ่มต้นความร่วมมือซึ่งกันและกันมาตั้งแต่เดือนมีนาคมของปีนี้ ทั้งสองฝ่ายได้มีการสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกันในลักษณะเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์อย่างชัดเจนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยการใช้ชิ้นส่วน และซอฟต์แวร์ในการผลิตรถยนต์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ในช่วงเวลานั้น ค่ายรถยนต์มิตซูบิชิ มอเตอร์ ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมกับทั้งสองแบรนด์ดังกล่าวด้วย