เคเคพี รีเสิร์ช(KKP Research) ซึ่งเป็นสำนักวิจัยในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ในหัวข้อว่าการส่งออกไทยโตดีมากแต่ภาคการผลิตกลับไม่ดีขึ้น? เคเคพี รีเสิร์ช เคยประเมินไว้ว่าการส่งออกไทยอยู่ในช่วงขาลงจากปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่แย่ลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามในปี 2024 การส่งออกสินค้าของไทยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์กลับเติบโตได้มากถึง 5.4% สูงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ในช่วงต้นปีที่ประมาณ 2% – 3% ในอีกทางหนึ่งเมื่อพิจารณาดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยกลับพบว่าที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในทิศทางหดตัวต่อเนื่องแม้การส่งออกไทยจะฟื้นตัวได้ดีก็ตาม เหตุการณ์ในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต
KKP Research ตั้งคำถามว่าเพราะอะไรการส่งออกไทยจึงยังโตได้ดีมากแต่ผลต่อเศรษฐกิจดูเหมือนจะมีน้อยลงชัดเจน โดยมี 3 ข้อสังเกตสำคัญ ดังนี้
1. การส่งออกของไทยบางส่วนเกิดจากการนำเข้าจากจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ (Rerouting) ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ อเมริกาและจีนทำให้จีนจำเป็นต้องส่งสินค้าผ่านประเทศอื่นเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ สะท้อนชัดเจนจากการขาดดุลการค้าที่มากขึ้นระหว่างไทยกับจีน
ในขณะที่เกินดุลกับสหรัฐฯ มากขึ้น ตัวอย่างสินค้าในกลุ่มนี้ คือ Solar Panel , Wifi Reuters มีมูลค่าเพิ่มในประเทศค่อนข้างต่ำ ทำให้การส่งออกของไทยดูเหมือนเติบโตได้ดีแต่ไม่ได้มี
กิจกรรมการผลิตเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย และไม่มีผลบวกเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง
2. การนำเข้าในปี 2024 เร่งตัวขึ้นแรง แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะอ่อนแอ KKP Research ประเมินว่าแม้หักการนำเข้าส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Rerouting ไปแล้วแต่การนำเข้าก็ยังคงเติบโตได้ค่อนข้างดีในภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ ซึ่งเป็นผลมาจาก (1) การพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีนทดแทนการ
บริโภคและปัจจัยการผลิตในประเทศมากขึ้น โดยการนำเข้าสินค้าจากจีนบางส่วนเป็นการนำเข้าสินค้าสำหรับใช้เพื่อบริโภคในประเทศตัวอย่างที่มีการเร่งตัวขึ้นชัด คือการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และ (2) การย้ายฐานการผลิต (Relocation) มาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเลคทรอนิกส์จากไต้หวัน โดยจะเป็นการผลิตสินค้าในกลุ่ม Printed Circuit Board (PCB)
3. สินค้าส่งออกไทยบางกลุ่มมีแนวโน้มมีมูลค่าเพิ่มในประเทศลดลง สินค้าส่งออกในบางกลุ่มมีแนวโน้มสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้น้อยลง ตัวอย่างเช่น การผลิตรถยนต์ในประเทศมีแนวโน้มใช้ชิ้นส่วนราคาที่ถูกกว่าจากประเทศจีนมากขึ้น โดยคาดว่าชิ้นส่วนจากจีนมีราคาถูกกว่าชิ้นส่วนในประเทศถึงประมาณ 20% – 30% ซึ่งในระยะยาวจะยิ่งทำให้การส่งออกที่ดีขึ้นสะท้อนผลบวกต่อเศรษฐกิจลดลง
KKP Research ประเมินเบื้องต้นว่าการส่งออกที่มีโอกาสเกี่ยวข้องกับการ Rerouting มีผลต่อการเติบโตของการส่งออกไทยประมาณ 22% ในปี 2024 จากระดับการเติบโตทั้งหมด และทำให้การติดตามมูลค่าการส่งออกอาจไม่ใช่เครื่องชี้วัดที่ดีของเศรษฐกิจอีกต่อไป KKP Research ประเมินว่าสถานการณ์ปัจจุบันทำให้การประเมินศักยภาพของภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยทำได้ยาก และมีความซับซ้อนขึ้นย่างมากโดยไม่สามารถติดตามเฉพาะเลขการส่งออกในภาพรวมเพียงตัวเดียวได้ โดยการเติบโตของการส่งออกที่มากขึ้น 1% จะส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ลดลงจากระดับ 0.3ppt เหลือประมาณ 0.1ppt – 0.2ppt เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การนำเข้าจากจีนเพื่อขายต่อในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อดุลการค้าไม่มากนักเพราะมีทั้งส่วนที่ไทยเกินดุลเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และขาดดุลเพิ่มขึ้นจากจีน
ในระยะถัดไปการส่งออกของไทยจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจแบ่ง
ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ (1) สินค้าที่ช่วยพยุงการส่งออกไทยในกลุ่ม Rerouting มีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มกีดกันสินค้าที่มีต้นกำเนิดจากจีน อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อดุลการค้าจะไม่รุนแรง (2) สินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อาจเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากการกีดกันทางการค้า (3) สินค้าจากจีนที่จะยังคงเข้ามาแข่งขันในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะหากสหรัฐฯ มีการปรับขึ้นภาษีกับจีนรุนแรง และ (4) สินค้ากลุ่มที่ไทยมีการตั้งกำแพงภาษีกับสหรัฐฯ ในระดับสูงอาจมีการต่อรองให้ไทยนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมได้