บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า มูลค่าหนี้เสียที่ไม่สามารถจ่ายคืนภายใน 90 วัน มีมูลค่าเกินกว่า 1.15 ล้านล้านบาท จากข้อมูลของเครดิตบูโร พบว่า สิ้นสุดไตรมาส 2 ของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมานั้น สถานการณ์ภาวะหนี้เสีย หรือหนี้เอ็นพีแอลที่เกิดจากการค้างจ่ายเกิน 90 วัน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 12.2% นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ในปีนี้ ยังพบว่า หนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 5.7%
สำหรับอันดับหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมานั้น ประกอบด้วยเรียงตามลำดับ 5 อันดับแรก คือ หนี้สหกรณ์เพิ่มขึ้น 54.7% หนี้รถยนต์เพิ่มขึ้น 29.7% หนี้อสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 23.2% หนี้ปล่อยกู้กลุ่มล่างเพิ่มขึ้น 22.0% และหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 21.5% อย่างไรก็ตาม หนี้เกษตรกรเป็นเพียงหนี้เสียประเภทเดียวที่ลดลง -33.9% มีมูลค่า 47.4 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนน้อยที่สุด คือหนี้เสียเช่าซื้อเพิ่มขึ้นเพียง 2.5%
ที่น่าเป็นกังวล คือ มูลค่าหนี้เสียดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกจนไปแตะ 1.2 ล้านล้านบาทถายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ มูลค่าดังกล่าว ถือว่าจะกลายเป็นหนี้เสียสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของไทย
สาเหตุมาจากโครงการการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีแนวโน้มยากมากขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากรายได้ของประชาชาชนถึงแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นแต่กลับไม่เพียงพอจ่ายเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะหนี้เสียบัตรเครดิตในไตรมาสที่ 2 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 21.5% สาเหตุมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติปรับเปลี่ยนอัตราการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตขึ้นเป็น 8% โดยมีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา และจะใช้อัตรานี้ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ปีนี้ พบว่า มูลค่าหนี้เสียทั้งหมดที่ 1.15 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.62% ของขนาดเศรษฐกิจประเทศไทยที่มีมูลค่า 17.37 ล้านล้านบาทตามตัวเลขของสภาพัฒน์ในปี 2022