สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงประธานและกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. เพื่อคัดค้านการรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 850 MHZ 1500 MHZ 2100 MHz และ 2300 MHz ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2568
ทั้งนี้ การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz มีผู้ชนะคือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด โดยมีราคาสุดท้าย 14,850 ล้านบาท บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้ คลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz มีราคาสุดท้าย 21,770 ล้านบาท และ คลื่นความถี่ย่าน 1500 MHz ที่ราคาสุดท้าย 4,653 ล้านบาท
สภาผู้บริโภค ขอคัดค้านผลการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว เนื่องจากการตั้งราคาการประมูลในประกาศ กสทช. กำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้ความถี่ไว้สูงกว่าที่กำหนดเป็นราคาขั้นต่ำในการประมูลจริงถึงร้อยละ 30 และ การกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตครั้งนี้ กีดกันผู้แข่งขันรายใหม่ เนื่องจากกำหนดให้ผู้รับอนุญาต ต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรในแต่ละตำบลภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต ซึ่งไม่เคยระบุในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความดีสำหรับ กิจการโทรคมนาคมครั้งอื่นเลย
การกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตครั้งนี้ ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมต้องแยกรายคลื่นความถี่ เพราะหากนำคลื่นที่ประมูลได้มาถัวเฉลี่ยเพื่อให้ขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมตามระยะเวลาในประกาศ ย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของประชาชน เนื่องจากข้อกำหนดเรื่องการขยายโครงข่ายมีวัตถุประสงค์ป้องกันไม่ให้ผู้ชนะการประมูลกักตุนคลื่นความถี่โดยไม่นำไปให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หวังผลเพียงกีดกันคู่แข่ง
การยินยอมให้นำความครอบคลุมโครงข่ายของทุกคลื่นความถี่ที่ชนะประมูลมาถัวเฉลี่ยกันจะเปิดโอกาสให้มีการกักตุนคลื่นความถี่ เป็นการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งขัดกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ขาดมาตรการรองรับการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับผลกระทบจากการหมดสัญญาของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT)