นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวันนี้ เปิดที่ระดับ 35.98 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.06 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.80- 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.90-36.10 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าเริ่มกลับมามีกำลังมากขึ้นและอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแรกแถว 36.25 บาทต่อดอลลาร์ (โดยเฉพาะหากเงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าทะลุโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ไปได้)
ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางเงินดอลลาร์และทิศทางราคาทองคำที่จะขึ้นกับมุมมองของตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ขณะเดียวกัน ควรระวังความผันผวนจากทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้นอาจยังพอได้แรงหนุน หาก ตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความผิดหวังรายงานผลประกอบการ ตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ และ เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงจากความผิดหวังผลการประชุม BOJ
นับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 35.82-36.06 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ ซึ่งในช่วงวันจันทร์ที่เป็นวันหยุดของตลาดการเงินไทยนั้น เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) เผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่เชื่อว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสัปดาห์นี้ได้ ส่วนเงินยูโร (EUR) ก็ถูกกดดันจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นยุโรป และคาดการณ์ของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่นก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ตามการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และนอกเหนือจากปัจจัยเงินดอลลาร์ เงินบาทยังผันผวนไปตามโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (ปรับตัวขึ้นในช่วงคืนวันศุกร์ ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงในช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา)
ส่วนสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ก็ออกมาดีกว่าคาด แต่เงินดอลลาร์กลับไม่ได้แข็งค่าขึ้นชัดเจน หลังเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากการลดสถานะ JPY-Carry Trade หรือ Short JPY
สัปดาห์นี้ประเมินว่า ควรเตรียมรับมือความผันผวน จากผลการประชุมธนาคารกลางหลัก (BOJ, เฟด และ BOE) รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent Seven)