ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวค่า เงินบาท ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือนครึ่งที่ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางอ่อนค่าของสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชีย นำโดย เงินหยวน หลังภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ เริ่มมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับอานิสงส์จากราคาทองคำในตลาดโลกที่กลับขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศชะลอการเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ หรือ Reciprocal Tariffs ให้กับหลายประเทศ ยกเว้นจีน เป็นเวลา 90 วัน (แต่ยังเก็บอัตราภาษีพื้นฐาน 10% อยู่)
เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง โดยแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 สัปดาห์ที่ 33.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังเงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมช่วงปลายสัปดาห์จากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด และความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยกระดับความตึงเครียดขึ้นตามอัตราภาษี Reciprocal Tarriff ที่ปรับขึ้นเพื่อตอบโต้กัน
ในวันศุกร์ที่ 11 เม.ย. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 เม.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 8-11 เม.ย. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,248 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 5,529 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 6,069 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 540 ล้านบาท)
หลังตลาดในประเทศกลับมาเปิดทำการในช่วงเช้าวันพุธที่ 16 เม.ย. 2568 เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ไปทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 6 เดือนที่ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ
สำหรับสัปดาห์นี้ ( 16-18 เม.ย.68) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.30-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทิศทางค่าเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก สัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงผลการประชุม ECB และธนาคารกลางเกาหลีใต้
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคานำเข้า/ส่งออก ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนมี.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนเม.ย. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/2568 และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซนและญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน