ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าเงินบาทยังคงทยอยอ่อนค่าลงตามภาพรวมของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียและการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังคงแข็งค่าขึ้นท่ามกลางการประเมินของตลาดว่า นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ อาจส่งผลทำให้มีแรงกดดันต่อเนื่องไปที่เงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้เฟดชะลอจังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (CPI PPI และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์) ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด และถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ระบุถึงเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมาย 2.00% ของเฟด ซึ่งสะท้อนว่า เฟดไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชั่นหลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าลงมากในช่วงที่ผ่านมา
ในวันศุกร์ที่ 15 พ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 พ.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 11-15 พ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,278 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 9,380 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 8,580 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 800 ล้านบาท)
สัปดาห์สัปดาห์นี้ (18-22 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.40-35.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สกุลเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนต.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และข้อมูลเบื้องต้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนี PMI เดือนพ.ย. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินโดนีเซีย รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนพ.ย. ของยูโรโซนและอังกฤษ