นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.27 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.00- 33.65 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 33.24-33.46 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่า เงินบาทจะแกว่งตัวในกรอบ Sideways ในช่วงวันศุกร์ เนื่องจากเป็นวันหยุดของตลาดการเงินฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ เนื่องในวันหยุด Good Friday
เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงเช้าวันจันทร์ หลังความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงกดดันความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาดต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ส่งผลให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง สอดคล้องกับการทยอยเพิ่มสถานะ Short USD (มองเงินดอลลาร์อ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาด นอกจากนี้ ราคาทองคำก็สามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้จุดสูงสุดก่อนหน้า หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท (Correlation ระหว่างเงินบาทกับราคาทองคำในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังคงสูงถึง 82%)
แนวโน้มค่าเงินบาท คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 33.15- 33.35 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลง โดยเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทว่า ยังคงต้องจับตาทิศทางเงินหยวนจีนและราคาทองคำ อย่างใกล้ชิด ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังมีความผันผวนอยู่ ซึ่งจะขึ้นกับบรรยากาศในตลาดการเงิน โดยต้องรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนไทยด้วยเช่นกัน
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น มองว่า เงินดอลลาร์อาจรีบาวด์ขึ้นบ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่ออกมาสดใส อาจช่วยหนุนการรีบาวด์ของเงินดอลลาร์ได้
ด้าน กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.10-33.30 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าตลาดบอนด์ไทยต่อเนื่อง สอดคล้องกับเทรนด์ตลาดบอนด์ของประเทศภูมิภาค
นายออสติน กูลส์บี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาชิคาโก กล่าวว่า หากการดำเนินงานของธนาคารกลางถูกแทรกแซง จะกระทบความเชื่อมั่น และส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เศรษฐกิจแย่ลงได้ ขณะที่ญี่ปุ่นอาจลดมาตรฐานด้านความปลอดภัยของรถยนต์ที่ถูกนำเข้า และอาจถกเกี่ยวกับค่าเงินเยน เพื่อเอื้อให้เกิดข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ