Sep 21, 2024 แข็งไม่ลง! เงินบาทแข็งค่าผุดสถิติใหม่ใน 20 เดือน สุดยื้อแตะ 32.87 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้ว่าแบงก์ชาติยันต้องอิสระ วันสุดซอยไม่ลดดอกเบี้ยตามอเมริกา
ตลาดซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศในตลาดต่างประเทศบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รายงานว่า วันนี้ 21 กันยายน 2024 เงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 26 สตางค์ต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินบาทปิดตลาดภายในประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายนผ่านไป ส่งผลให้ค่าเงินบาทดังกล่าวทำสถิติแข็งค่าสุดครั้งใหม่ในรอบ 20 เดือนหรือนับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2023 เป็นต้นมา
สาเหตุจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยใน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ได้กล่าวเกี่ยวกับมุมมองเรื่องภาวะอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวานนี้ว่า ไม่ใช่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดลดดอกเบี้ยแล้ว เราต้องลดตาม มีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาประกอบ การตัดสินนโยบายการเงินขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า (Outlook dependent)
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าวยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทมีความผันผวนสูงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค แต่ไม่ได้แข็งค่าที่สุด ตั้งแต่ต้นปีนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.1% สาเหตุความผันผวนมาจากราคาทอง เนื่องจากเงินบาทมีความสัมพันธ์กับทองมากกว่าเงินสกุลอื่น ทั้งนี้ ในการประเมินผลกระทบต้องพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน คือ ดอลลาร์อ่อนค่าลงจากเฟดลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่ ธปท. ให้ความกังวลคือ การที่เงินบาทผันผวนจากปัจจัยที่ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน เช่น Hot money การที่นักลงทุนนำสกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อหวังผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่สะท้อนพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ธปท. ยังไม่เห็นความเสี่ยงจากการเก็งกำไร
ย้อนกลับไปเมื่อวานนี้ 20 กันยายน 2024 ตลาดซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศในเอเชียที่ญี่ปุ่น รายงานว่า สิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านไป ค่าเงินบาทเทียบเงินดอลล่าร์สหรัฐพุ่งทะยานแข็งค่าถึง 10% ส่งผลทำสถิติค่าเงินบาทรายไตรมาสที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 26 ปีหรือนับตั้งแต่สิ้นสุดไตรมาสที่หนึ่งปี 1998 เป็นต้นมา หรือนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งของประเทศไทย
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เปิดเผยรายงานความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก พบว่า ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมถึง 12 กันยายน 2024 ค่าเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นสกุลเงินที่ทะยานแข็งค่าขึ้นถึง 6.1% มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของ 8 สกุลเงินในประเทศเกิดใหม่ที่ปรับแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในทุกสกุลเงินของประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
สำหรับสกุลเงินในประเทศเกิดใหม่เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 สิงหาคมถึงวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมามีดังนี้
- บาท ไทย 6.2%
- รูเปี๊ยะ อินโดนีเซีย 5.2%
- ริงกิต มาเลเซีย 5.1%
- เปโซ ฟิลิปปินส์ 3.8%
- แรนด์ แอฟริกาใต้ 2.9%
- ด่อง เวียดนาม 2.7%
- วอน เกาหลีใต้ 2.6%
- เรียล บราซิล 2.1%